มะเกลือ

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


มะเกลือ

มะเกลือ ภาษาอังกฤษ Ebony tree

มะเกลือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff. จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)

สมุนไพรมะเกลือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มักเกลือ (เขมร-ตราด), มักเกลือ หมักเกลือ มะเกลือ (ตราด), ผีเผา ผีผา (ฉาน-ภาคเหนือ), มะเกือ มะเกีย (ภาคเหนือ), เกลือ (ภาคใต้), มะเกลื้อ (ทั่วไป) เป็นต้น

ลักษณะของมะเกลือ

  • ต้นมะเกลือ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่าและไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นเปลา ที่โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน ที่ผิวเปลือกเป็นรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามยาว สีดำ เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกระพี้มีสีขาว แก่นมีสีดำสนิท เนื้อมีความละเอียดเป็นมันสวยงาม ที่กิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นอยู่ประปราย โดยทุกส่วนของมะเกลือเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และต้นมะเกลือจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบต้นมะเกลือได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ โดยต้นไม้ชนิดนี้จะพบได้มากในจังหวัดลพบุรี ราชบุรี สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร และอุดรธานี นอกจากนี้ต้นมะเกลือยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย

ต้นมะเกลือไม้มะเกลือ

  • ใบมะเกลือ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรี เรียงแบบสลับ โคนใบกลมหรือมน ปลายใบสอบเข้าหากัน ผิวใบเกลี้ยง ใบกว้างประมาณ 3.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน
  • ดอกมะเกลือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นกัน ดอกตัวผู้จะมีขนาดเล็ด สีเหลืองอ่อน ในหนึ่งช่อจะมีอยู่ 3 ดอก ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะของดอกเหมือนกัน คือ กลีบรองดอกจะยาวประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายกลีบดอกจะแยกเป็น 4 กลีบ มีสีเหลือง เรียงเวียนซ้อนทับกัน ที่กลางดอกจะมีเกสร
  • ผลมะเกลือ ลักษณะของผลกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ผลเมื่อแก่จัดจะแห้ง ที่ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่บนผล 4 กลีบ ผลจะแก่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ในผลมีเมล็ดแบนสีเหลืองประมาณ 4-5 เมล็ด มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

สมุนไพรมะเกลือ มีสรรพคุณในด้านการแพทย์ที่โดดเด่นมากที่สุดนั่นก็คือ การนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิเส้นด้าย (Threadworm), พยาธิตัวกลม (Roundworm), พยาธิตัวตืด (Tapeworm), พยาธิปากขอ (Hookworm), พยาธิแส้ม้า (Whipworm) เป็นต้น (แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำมาใช้แล้ว) แถมยังมีราคาถูกและหาได้ทั่วไปตามชนบทอีกด้วย

สรรพคุณของมะเกลือ

  1. ช่วยแก้กระษัย (ลำต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้น)
  2. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (เปลือกต้น)
  3. ช่วยแก้ตานซางขโมย (ลำต้น)
  4. ช่วยแก้พิษตานซาง (ผลสด, แก่น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้น)
  5. ช่วยขับเสมหะ (เปลือกต้น, ทั้งต้น)
  6. ช่วยแก้ลม อาการหน้ามืด (ราก, แก่น)
  7. รากมะเกลือมีรสเบื่อเมา ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าว ใช้รับประทานแก้ลม แก้อาเจียน (ราก)
  8. ช่วยแก้ฝีในท้อง (แก่น)
  9. ใบมะเกลือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับสุรา ใช้ดื่มแก้อาการตกเลือดภายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ใบ)
  10. รากช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)
  11. ช่วยแก้พิษตานซาง (เปลือกต้น, ราก)
  12. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำอาบช่วยรักษาโรคดีซ่าน (ลำต้น)
  13. เปลือกต้นช่วยแก้พิษ (เปลือกต้น)
  14. ช่วยขับพยาธิ (ลำต้น, แก่น, เปลือกต้น, ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)

มะเกลือขับพยาธิ

สมุนไพรไทยมะเกลือ มีสาร Diospyrol diglucoside ซึ่งช่วยกำจัดพยาธิ พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิแส้ม้า (พยาธิสามัญทุกชนิด) ช่วยถ่ายตานซาง ถ่ายกระษัย โดยสารชนิดนี้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี จึงไม่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้ แต่จะถูกพยาธิเหล่านี้กินเข้าไปแทน และทำให้พยาธิตายในที่สุด

วิธีการใช้สมุนไพรมะเกลือขับพยาธิ ขั้นตอนแรกให้เลือกใช้ผลมะเกลือสดที่โตเต็มที่และเขียวจัด โดยใช้จำนวนผลเท่ากับอายุแต่ไม่เกิน 20-25 ผล เช่น หากอายุ 30 ปี ก็ให้ใช้เพียง 25 ผล หรือหากมีอายุ 20 ปี ก็ให้ใช้เพียง 20 ผล เป็นต้น นำผลสดที่ได้ล้างให้สะอาดแล้วมาโขลกพอแหลก แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับหัวกะทิสด (กะทิจะช่วยกลบรสเฝื่อนได้ เพราะน้ำคั้นของมะเกลือมีรสเฝื่อนและกินได้ยากมาก) แล้วนำมาดื่มขณะท้องว่างก่อนอาหารเช้าทันที ห้ามทิ้งไว้เพราะจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำและมีพิษ และยังทำให้ฤทธิ์ในการถ่ายพยาธิลดน้อยลงด้วย หลังรับประทานไป 3 ชั่วโมงแล้ว หากยังไม่ถ่ายให้ใช้ยาถ่ายตาม หรือใช้ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำดื่มตามลงไป (ผลสดสีเขียว)

ข้อควรระวังในการใช้มะเกลือขับพยาธิ

  • ผลมะเกลือ มีสาร "ไดออสไพรรอล" (Diospyrol) เป็นสารจำพวก "แนฟทาลีน" (Naphthalene) ที่เป็นพิษต่อประสาทตา หากรับประทานในปริมาณมากเกินไปจะทำให้สารดังกล่าวถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนทำให้เกิดอาการอักเสบของเรตินาได้ โดยจะเกิดภายหลังจากการได้รับสารชนิดนี้เข้าไป 1-2 วัน จะทำให้การมองเห็นแย่ลง แม้จะใส่แว่นตาก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่งมองไม่เห็นเลย เพราะประสาทตาอักเสบอยู่นานจนทำให้ประสาทตาฝ่อ และมักจะเกิดต้อกระจกตามมาอีกด้วย หลังจากการอักเสบของเรตินา (แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดที่รับประทาน หากรับประทานมากอาการก็จะเกิดขึ้นเร็ว) เมื่อเกิดต้อกระจกแล้ว ก็จะเริ่มมีอาการขุ่นจากบริเวณขอบของเลนส์ในลูกตา แล้วค่อย ๆ ลามมาตรงกลาง จนเลนส์ตาขุ่นมัวทั้งหมด
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีหลังคลอดใหม่ ๆ หรือในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีอาการขับถ่ายผิดปกติอยู่บ่อย ๆ มีอาการไข้ เป็นต้น
  • ควรเลือกใช้ลูกมะเกลือสดผลสีเขียวเท่านั้น ไม่ควรรับประทานผลมะเกลือสุกหรือผลมะเกลือสีดำในการถ่ายพยาธิโดยเด็ดขาด เพราะมีพิษอันตรายมาก อาจทำให้ตาบอดได้
  • สำหรับการใช้ผลมะเกลือเพื่อช่วยขับพยาธิ ห้ามใช้เกินกว่าขนาดที่แนะนำ
  • ควรบดยาด้วยการใช้ครกหินจะดีที่สุด
  • ห้ามใช้น้ำปูนใสในการผสมยา เพราะจะทำให้สารสำคัญสลายได้
  • การเตรียมยาแต่ละครั้งไม่ควรเตรียมไว้ในปริมาณมากเกินกว่าที่จะรับประทาน ควรเตรียมแบบสดใหม่และใช้กินทันทีเท่านั้น และห้ามเก็บหรือทิ้งค้างไว้ และไม่ควรนำมาต้มเพราะจะเกิดพิษ (หากปล่อยทิ้งไว้น้ำมะเกลือจะเปลี่ยนเป็นสีดำและเป็นพิษ)
  • หลังจากรับประทานหากมีอาการท้องเดินหลาย ๆ ครั้ง และมีอาการตามัวให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินกว่า 24 ชั่วโมงและมีอาการรุนแรงมากเกินไปก็อาจจะถึงขั้นตาบอดถาวรได้
  • ผู้ที่รับประทานบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องเสียได้ เพราะมะเกลือไประคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เราต้องเข้าใจว่าพืชหรือยาทุกชนิดนั้นเป็นเสมือนดาบสองคม การใช้ผิดวิธีหรือแม้แต่ใช้อย่างถูกต้องก็อาจจะเกิดอันตรายได้ เนื่องจากบางคนมีความไวและการตอบสนองต่อฤทธิ์ยา เช่น บางคนแพ้ยาแก้แพ้ หรือบางคนรับประทานยากล่อมประสาทแต่กลับฝันร้าย เป็นต้น โปรดจำไว้ว่าสารใด ๆ ก็ตามที่มีประโยชน์ก็อาจมีโทษแฝงอยู่ด้วย ในการใช้มะเกลือขับพยาธิก็เช่นกัน ก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ในบางคน แต่ถ้าหากเรารู้จักวิธีใช้อย่างถูกต้องและใช้อย่างระมัดระวัง ก็จะช่วยทำให้อันตรายที่เกิดจากพิษนั้นลดน้อยลงตามไปด้วย
  • สำหรับบางรายการอาจเกิดอาการแพ้ ทำให้เกิดอาการท้องเดินบ่อย ๆ มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก มีอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียน มีอาการตามัว หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
  • ในปัจจุบันไม่มีการแนะนำให้ใช้ผลมะเกลือในการถ่ายพยาธิแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างแน่นอนว่ามันจะแปรสภาพไปเป็นสารที่ทำให้ตาบอดได้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญโรคพยาธิต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ลดน้อยลงอย่างมากหากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน แถมกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่แนะนำให้นำมาใช้เป็นยาถ่ายอีกด้วย และก็ไม่มีการนำมาใช้ในการถ่ายพยาธินานมากนับสิบปีแล้ว

ประโยชน์ของมะเกลือ

  1. ไม้มะเกลือ มีความละเอียดและแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือนได้เป็นอย่างดี หรือจะใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องประดับมุก เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ไม้มะเกลือ ตะเกียบก็ได้เช่นกัน
  2. เปลือกนำไปปิ้งไฟให้เหลือง ใช้ใส่ผสมรวมกับน้ำตาล นำไปหมัก ก็จะได้แอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่าน้ำเมานั่นเอง
  3. เปลือกต้นมะเกลือใช้ทำเป็นยากันบูดได้
  4. มะเกลือประโยชน์ดีหายาก ! ผลมะเกลือมีสีดำ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ย้อมผ้าหรือย้อมแห โดยจะให้สีดำ สีที่ได้จะเข้มและติดทนนาน (ผลสุก)
  5. สีดำที่ได้จากผลมะเกลือยังสามารถนำมาใช้ทาไม้ให้มีสีดำเป็นมันในการฝังมุกโต๊ะและเก้าอี้ ช่วยทำให้มีลวดลายสวยงามและเด่นมากขึ้น

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, นิตยสารหมอชาวบ้าน (นพ.ประเสริฐศักดิ์ ตู้จินดา), เว็บไซต์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ biogang.net, www.plant.opat.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/