ชุมเห็ดเทศ

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ ชื่อสามัญ Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Candlestick senna, Christmas candle, Empress candle plant, Impetigo bush, Ringworm bush, Ringworm senna, Ringworm shru, Seven golden candlestick[1],[2],[4],[6],[7],[8],[11]

ชุมเห็ดเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia alata L., Cassia bracteata L.f., Herpetica alata (L.) Raf.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2],[4],[6],[7],[8],[11]

สมุนไพรชุมเห็ดเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มเห็ด (เชียงราย), จุมเห็ด (มหาสารคาม), ขี้คาก ลับมืนหลวง[1] ลับหมื่นหลวง[3] ลับมืนหลาว[4] หญ้าเล็บมือหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ), ชุมเห็ด ชุมเห็ดใหญ่ ชุมเห็ดเทศ (ภาคกลาง), ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตุ๊ยเฮียะเต่า ฮุยจิวบักทง (จีน), ตุ้ยเย่โต้ว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[5],[9]

ลักษณะของชุมเห็ดเทศ

  • ต้นชุมเห็ดเทศ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ไม่ชอบที่ร่ม สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด พรรณไม้ชนิดนี้ไม่ต้องการความเอาใจใส่ ปลูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้โตขึ้นเองได้ พบขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งบนที่ราบหรือบนภูเขาสูงจนถึง 1,500 เมตร[4],[5]
  • ใบชุมเห็ดเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบโค้งมนหรือหยัก โคนใบมนเว้าเข้าหากันเล็กน้อย โคนใบทั้งสองด้านไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว แก่นกลางใบหนา ก้านใบรวมยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีหูใบลักษณะเป็นรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ติดทน[3],[5] เมื่อนำใบมาอบให้แห้งแล้วจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ส่วนผงที่ได้เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเบื่อเอียนและขมเล็กน้อย[6]

ใบชุมเห็ดเทศ

  • ดอกชุมเห็ดเทศ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้ง โดยจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแคบ ๆ ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองทอง มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือเป็นรูปช้อน ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีก้านกลีบสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-10 ก้าน โดยมีเกสรอันยาว 2 ก้าน (ก้านเกสรหนา ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร) เกสรอันสั้น 4 ก้าน (ก้านเกสรจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร) และเกสรเพศผู้ที่ลดรูปอีก 4 ก้าน อับเรณูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรมีขนาดเล็ก มีใบประดับเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลืองหุ้มดอกที่ยังไม่บาน ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกสั้น ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[4],[5]

รูปชุมเห็ดเทศ

  • ผลชุมเห็ดเทศ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร[4],[5]

ผลชุมเห็ดเทศ

สรรพคุณของชุมเห็ดเทศ

  1. รากชุมเห็ดเทศใช้ผสมยาบำรุงธาตุ (ราก)[4]
  2. ใช้ใบชาชุมเห็ดเทศนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ (ใบ)[12]
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[4]
  4. หากดื่มยาชงจากชุมเห็ดเทศเป็นประจำจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]
  5. ชาชุมเห็ดเทศใช้ชงกับน้ำดื่ม สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]
  6. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งน้ำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือจะใช้ชงเป็นชาดื่มต่างน้ำวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดเป็นปกติดีแล้วก็ให้ต้มใบยอดื่มอีก 3 สัปดาห์ ก็จะหายขาดจากโรคเบาหวาน (ใบ)[12],[13]
  7. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ด)[1],[5]
  8. ช่วยแก้เส้นประสาทอักเสบ (ใบ)[4],[6]
  9. ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ (ใบ, ราก, ต้น)[4],[6]
  10. เมล็ดช่วยแก้ตานซาง ถ่ายพิษตานซาง ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง (เมล็ด[1],[3],[5], ทั้งต้น[4])
  1. ช่วยรักษาโรคตาเหลือง (ราก)[4]
  2. ช่วยแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
  3. ช่วยแก้กษัยเส้น (ใบ, ราก, ต้น)[4],[6]
  4. ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้หืด (ใบและดอก)[1],[5]
  5. รากและทั้งต้นเป็นยาถ่ายเสมหะ (ราก, ทั้งต้น)[4],[13]
  6. ใบมีกลิ่นฉุน นำมาต้มกับน้ำใช้เป็นยาอมบ้วนปาก (ใบ)[4],[6]
  7. ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ (ใบและดอก)[1],[5]
  8. ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (อาการท้องอืดท้องเฟ้อเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (เมล็ด)[1],[5]
  9. เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง (เปลือกต้น)[13]
  10. ตำรายาไทยใช้ใบและดอกเป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวได้ดีขึ้น (ใบอ่อนจะมีฤทธิ์มากกว่าใบแก่ และหากไม่นำใบมาคั่วเสียก่อนจะเกิดผลข้างเคียงได้ คืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อคั่วจนร้อนแล้วจะทำให้สารที่มีฤทธิ์ทำให้มีอาการอาเจียนสลายไปได้) (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7],[11],[13]
    • ใช้ใบสดหรือแห้งครั้งละ 12 ใบนำมาต้มกับน้ำพอสมควร ใช้ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืดหรือช่วงก่อนนอน
    • ใช้ใบนำมาชงกับน้ำเดือด 120 มิลลิลิตรเป็นเวลา 10 นาที แล้วดื่มก่อนเข้านอน
    • ใช้ใบสด 12 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งหรือปิ้งกับไฟให้เหลือง ก่อนนำมาต้มหรือชงกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยแล้วดื่มครั้งเดียวให้หมด
    • ใช้ใบแห้งบดเป็นผง ปั้นทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยรับประทานครั้งละ 3 เม็ด ก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการท้องผูก
    • ใช้ดอกสด 1 ช่อ นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ช่อดอกประมาณ 1-3 ช่อ (แล้วแต่ธาตุหนักธาตุเบาของแต่ละคน) นำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้ม
    • ส่วนยาชงจากใบที่บรรจุในซองในขนาด 3 กรัมต่อซอง ให้ใช้ครั้งละ 1-2 ซอง นำมาชงกับน้ำเดือน 120 มิลลิลิตรต่อซอง นาน 10 นาที ใช้ดื่มวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
    • ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลืองใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
    • นอกจากนี้เปลือกต้น ราก และผลก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายท้องเช่นกัน (เปลือกต้น, ราก, ผล)[1],[4],[5],[13] ส่วนต้น ราก ใบ ดอก และเมล็ดใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูก (ต้น, ราก, ใบ, ดอก, เมล็ด)[4],[9],[13]
  11. ช่วยสมานธาตุ รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[4],[6]
  12. เมล็ดมีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับพยาธิในลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 3-5 กรัมนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง (เมล็ด[1],[3],[4],[5], ต้น[4], ทั้งต้น[4],[13]) ส่วนผลหรือฝักมีรสเอียนเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน (ผล)[1],[4],[5],[13] ส่วนใบสดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 20 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับน้ำปูนใสก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ใบ)[5],[6],[9] ใช้ทั้งต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน หรือจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้นผสมกับกรดมะนาว (Citric acid) ดื่มก็ได้ ส่วนดอกและต้นก็เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนได้เช่นกัน (ทั้งต้นอ่อน, ต้น, ดอก)[9],[13]
  13. รากใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ (ราก)[13]
  14. ต้น ราก ใบ หรือดอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ใบ, ดอก)[4],[6],[9],[13]
  15. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเหลือง (ราก)[4]
  16. ใบใช้เป็นยาแก้สังคัง ด้วยการใช้ใบสด 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ เติมปูนแดงเล็กน้อยแล้วนำมาใช้ทา หรือจะใช้ใบชุมเห็ดเทศ 3 ใบ หัวกระเทียม 3 หัว และเกลือตัวผู้ 3 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[12]
  17. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)[4]
  18. รากใช้ต้มกินเป็นยารักษาตกมูกเลือด (ราก)[4]
  19. ยาต้มหรือยาชงจากใบชุมเห็ดเทศ ยาต้มเข้มข้นช่วยเร่งคลอดหรือทำให้แท้ง (ใบ)[9]
  20. ใช้รักษาโรคเริม (ใบ)[9]
  21. เปลือกและเนื้อไม้ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกและเนื้อไม้)[9]
  22. ใบใช้ผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[4],[6]
  23. เด็กชาวแอฟริกาที่ผิวหนังเป็นแผลจะใช้ใบนำมาตำผสมกับน้ำอาบและบางครั้งก็ใช้อาบเด็กแรกเกิด (ใบ)[9]
  24. ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ รักษากลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน หรือมีอาการคันบริเวณหนังศีรษะ โดยมีวิธีใช้อยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7],[8],[11]
    • ให้นำใบมาต้มกับน้ำ แล้วใช้น้ำที่ต้มได้มาล้างผิวหนังบริเวณที่เป็น
    • ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดหรือขยี้ใช้ถูทาบริเวณที่เป็นนาน ๆ และบ่อย ๆ
    • ใช้ใบประมาณ 3-4 ใบนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมะนาวเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ทาวันละ 2-3 ครั้ง
    • ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย ตำผสมกันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นกลากหรือโรคผิวหนัง (ให้ขูดผิวบริเวณที่เป็นด้วยไม้ไผ่ที่ฆ่าเชื้อแล้วให้แดงก่อนทายา) โดยใช้ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย และเมื่อหายแล้วก็ให้ทาต่อไปอีก 1 สัปดาห์
    • ใช้ใบสดมาตำแช่กับเหล้า แล้วเอาส่วนของเหล้านำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดีนัก แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อราที่ผมและเล็บ
    • ใช้ใบผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกรักษากลากหรือโรคผิวหนัง
    • ส่วนอีกวิธีให้นำใบมาตำหรือคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำปูนใสทาหรือผสมกับวาสลิน ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา
    • หรือจะใช้ครีมสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศ 95% ด้วยเอทานอลความเข้มข้น 20% นำมาทาวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้าและเย็น ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
    • นอกจากนี้ในส่วนของต้น เปลือกต้น ราก ผล เมล็ด และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อนด้วยเช่นกัน (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ผล, เมล็ด, ทั้งต้น)[4],[13]
  25. ต้นใช้เป็นยารักษาคุดทะราด (ต้น)[4]
  26. ใบและรากใช้เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง (ใบ, ราก)[4]
  27. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝี (ทั้งต้น)[4]
  28. ใบชุมเห็ดเทศใช้ตำพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้นได้ (ใบ)[4],[6]
  29. ช่วยรักษาฝี แผลพุพอง ด้วยการใช้ใบรวมก้านสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำพอท่วมแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาใช้ชะล้างฝีที่แตกแล้วหรือแผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น แต่ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากก็ให้ใช้ใบประมาณ 10-12 กำมือ นำมาต้มกับน้ำอาบเช้าเย็นจนกว่าจะหาย (ใบ)[6],[7]
  30. ใช้เป็นยารักษาหิดและสิว (ราก[4], ต้น[13], ดอก[13])
  31. ชาวศรีลังกาและอินเดีย ใช้เป็นยาแก้งูกัด (ทั้งต้นอ่อน)[9]
  32. ช่วยแก้อาการฟกบวม (ทั้งต้น)[4]
  33. ใช้ดอก 1 ช่อนำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้ผิวหนังดีมีสีมีใย (ดอก)[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดเทศ

  • สารที่พบในชุมเห็ดเทศ คือสารจำพวก Hydroxyanthracene derivatives เช่น aloe-emodin, chrysophanol, chrysophanic acid, emodin, flavonoids, glycoside, kaempferol, isochrysophanol, physcion glycoside, terpenoids, sennoside, sitosterols, lectin, rhein[3],[7] โดยสารในกลุ่มแทนนิน ฟลาโวนอยด์ อย่างเช่น kaemferol มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน อีกทั้งยังมีสารแอนทราควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงมีฤทธิ์รวมเป็นยาระบายที่มีสรรพคุณสมานธาตุไปด้วยในตัว[6]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการก่อยับยั้งเนื้องอก เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ลดการอักเสบ แก้ปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์[13]
  • สารสกัดด้วยน้ำมีผลเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ของหนูถีบจักร และหากให้ในขนาดเทียบเท่าผงใบ 5-20 กรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้หนูทุกตัวถ่ายเหลว[11]
  • จากการทดลองให้หนูกินสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยสารสกัดน้ำร้อนขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย และยังมีการทดลองด้วยการฉีดสารสกัดจากชุมเห็ดเทศด้วยน้ำร้อนในขนาด 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน[8]
  • ได้มีการทดลองเปรียบเทียบผลของใบชุมเห็ดเทศ โดยนำยาชงถุงละ 3-4 กรัมมาชงน้ำเดือด 120 ซี.ซี. ทิ้งไว้ 10 นาที โดยทำการเปรียบเทียบระหว่าง placebo จำนวน 23 ราย, Mist alba จำนวน 7 ราย และชุมเห็ดเทศอีก 12 ราย พบว่าใบชุมเห็ดเทศให้ผลดีกว่า placebo และให้ผลเท่ากับมิสท์ แอลบา (Mist alba) และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยพอใจผลของใบชุมเห็ดเทศมากกว่า Mist alba[8],[11]
  • สารสกัดน้ำจากใบเมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli ที่เป็นสาเหตุให้ลูกหมูท้องเสียในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ที่ระดับความเข้มข้นมากกว่า 21.8 มก./มล.[8]
  • ชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารเล็กน้อย มีฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ไม่มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อลาย ช่วยกระตุ้นการหลั่งของปัสสาวะ[4],[6]
  • สาร Glycoside ที่สกัดได้จากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจแรงขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนอัตราการเต้นของหัวใจ แต่หากใช้สารนี้ฉีดเพิ่มขึ้นอีก พบว่าจะทำให้หัวใจเต้นช้ามาก ๆ และอาจเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นในท่าบีบตัว (Systolic Arrest)[3],[4] และสาร Glycoside ยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้อีกด้วย[8]
  • สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ หลอดลม หลอดเลือด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และมดลูก โดยมีผลทำให้มีการบีบตัวแรงขึ้น แต่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขยายตัว[4]
  • ส่วนต่าง ๆ ของชุมเห็ดเทศ เช่น ฝัก ใบ และดอก มีสารในกลุ่มจำพวกแอนทราควิโนน เช่น aloe-emodin, emodin และ rhein มีฤทธิ์เป็นยาระบายและฆ่าเชื้อโรคได้ โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ช่วยระบาย[2],[3],[4],[6]
  • สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตขอเนื้องอก (Sarcoma) ในหนูเล็ก โดยการฉีดสารเข้าที่ขาก็จะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ฉีดเข้าไป[3],[4]
  • สารสกัดจากแอลกอฮอล์และครีมที่มีความเข้มข้น 20% สามารถใช้รักษากลากเกลื้อนให้หายได้ 100% แต่ไม่สามารถใช้รักษาเชื้อราที่เล็บและที่บริเวณหนังศีรษะได้ นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนชนิด (Pityraisis versicolor) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Malassezia furfur จำนวน 200 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุ 16-60 ปี) เมื่อใช้สารสกัดน้ำใบชุมเห็ดเทศ ความเข้มข้น 80% ทาบริเวณหน้า ความเข้มข้น 90% ทาบริเวณคอและมือ ความเข้มข้น 100% ทาบริเวณแขนและขา โดยให้ทาในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนวันละ 1 ครั้ง และล้างออกในตอนเช้าโดยไม่ต้องฟอกสบู่ พบว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ บริเวณที่เป็นผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังมีรอยโรคปรากฏอยู่ และสีผิวจะปรับเข้าสู่สภาพปกติจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-12 เดือน[8]
  • สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศแก่สดที่ความเข้มข้นมากกว่า 70 % ให้ผลดีในการรักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor) และยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ได้นานถึง 1 ปี ถ้าต้องการให้หายขาดจะต้องใช้ทุก 4 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี หลังจากการรักษาครั้งแรกได้ผลดีและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง[11]
  • น้ำมันที่ได้จากใบหรือเมล็ดชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้[3],[4],[6] โดยสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ประมาณ 95% สามารถฆ่าเชื้อ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Serratia marcescens ได้ ส่วนสารสกัดจากน้ำของใบจะมีความเข้มข้นประมาณ 5% และสามารถฆ่าเชื้อ Trichophyton mentagrophytes ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก[4]
  • น้ำมันหอมระเหยจากใบและสารสกัดเปลือกต้นด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ในระดับปานกลาง[8]
  • ชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดโรคในพืชคือ Agrobacterium tumefaciens[4]
  • ในใบชุมเห็ดเทศมีสาร chrysophanol ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยมีผู้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่าง ๆ ของใบชุมเห็ดเทศ ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก คือ Trichophyton mentagrophytes โดยใช้สารสกัดด้วยน้ำของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคผิวหนังได้ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% จากทุกส่วนของชุมเห็ดเทศ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์, คลอโรฟอร์ม, อีเทอร์ และน้ำ ก็พบว่าสามารถต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้เช่นกัน[8]
  • สารสกัดเอทานอล aloe-emodin, chrysophanol และ rhein จากใบชุมเห็ดเทศสามารถต้านเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes และ M. canis ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อนได้ และพบว่า rhein จะให้ผลในการยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes ได้ดีที่สุด[8]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา dermatophyte ที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี[11]
  • สารสกัดน้ำจากเปลือกต้น เมื่อนำมาทดสอบด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้ โดยระดับความเข้มข้นของสารสกัดที่ 30 มคก./มคล. จะให้ผลดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐานอย่าง Ticonazole ที่ความเข้มข้น 30 มคก./มคล. เท่ากัน แต่สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอลจะไม่มีฤทธิ์ยับยั้งยีสต์[8]
  • สารสกัดด้วยเฮกเซนหรือด้วย 85% เอทานอล และสาร kaempferol 3-O-sophoroside แสดงฤทธิ์แก้อาการปวดในสัตว์ทดลอง[11]
  • <