กระทือ

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ชื่อสมุนไพร

กระทือ

ชื่ออื่นๆ

กระทือ (ภาคกลาง) กะทือป่า กะแวน กะแอน แฮวดำ (ภาคเหนือ) เปลพ้อ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เฮียวข่า (ฉาน แม่ฮ่องสอน) เฮียวดำ เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.

ชื่อพ้อง

Amomum silvestre Poir., A. spurium (J.Koenig) J.F.Gmel., A. zerumbet L., Cardamomum spurium (J.Koenig) Kuntze, Dieterichia lampujang Giseke, D. lampuyang Giseke, D. major Raeusch., D. minor Raeusch., D. spuria (J.Koenig) Giseke, Zerumbet zingiber T.Lestib., Z. amaricans Blume, Z. aromaticum Valeton, Z. blancoi Hassk., Z. darceyi H.J.Veitch, Z. littorale (Valeton) Valeton, Z. ovoideum Blume, Z. spurium J.Koenig, Z. truncatum

ชื่อวงศ์

Zingiberaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 14-40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มี 10-25 ใบ เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ รูปไข่กลับกว้างหรือเกือบกลม กว้าง 3.0-3.2 
เซนติเมตร ยาว 2.0-2.3 เซนติเมตร ปลายมน ขอบพับเข้าด้านใน ดอกบานสีขาวอมเหลืองโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 เซนติเมตร ยาว 1.7 เซนติเมตร ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 1.8 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 เซนติเมตร ยาว 1.6-1.7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้าง 0.4 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ยาว 0.1 เซนติเมตรเกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม (axile placenta) ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 2.5 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน ชอบขึ้นบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ  หรือที่ชื้นริมลำธาร หรือดินที่ร่วนซุย ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนตุลาคม หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน รับประทานเป็นผักสดได้

สรรพคุณ    
               ตำรายาไทยใช้ เหง้า มีรสขมขื่นปร่า แช่น้ำดื่ม แก้ร้อนใน บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ ผสมเหง้าไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำดื่ม แก้บิด ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ปวดเบ่ง แน่นท้องปวดบวม ขับเสมหะ เบื่ออาหาร เหง้ากระทือนำมาหมกไฟฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา ดอก รสขมขื่น แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น เกสร รสเฝื่อนปร่า แก้ลม บำรุงธาตุ  ต้น มีรสขมขื่น ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้

http://www.phargarden.com/

สรรพคุณของกระทือ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  3. ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร (เหง้า)
  4. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้สามารถรับประทานอาหารมีรสได้ (ต้น)
  5. ช่วยแก้โรคผอมแห้ง ผอมเหลือง (ดอก)
  6. ช่วยขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ (ใบ)
  7. แก้เบาเป็นโลหิต (ใบ)
  8. มีการใช้เหง้ากระทือในตำรับยา "พิกัดตรีผลธาตุ" ซึ่งประกอบไปด้วย เหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (เหง้า)
  9. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เหง้า)
  10. กระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ต้น)
  11. ช่วยแก้ไข้เรื้อรัง (ดอก)
  12. ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวเย็นที่รู้สึกร้อนภายใน (ราก)
  13. ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (เหง้า)
  14. ดอกช่วยแก้ลม (ดอก)
  15. ช่วยแก้บิด บิดป่วงเบ่ง แก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับผายลมในลำไส้ ด้วยการใช้หัวกระทือหรือเหง้ากระทือสด ประมาณ 20 กรัม (ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว) นำมาย่างไฟพอสุก แล้วนำมาตำเข้ากับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเมื่อมีอาการ (เหง้า)
  16. ช่วยกล่อมอาจมหรืออุจจาระ ใช้สูตรเดียวกันกับแก้บิด (เหง้า)
  17. เหง้าหรือหัวกระทือประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Methyl-gingerol, Zingerone, และ Citral ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลมได้และไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร (เหง้า)
  18. เหง้าช่วยขับปัสสาวะ (เหง้า)
  19. เหง้ากระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี (เหง้า)
  20. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้หัวกระทือนำมาฝนแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการเคล็ด (เหง้า, ราก)
  21. ช่วยบำรุงและขับน้ำนมของสตรี (เหง้า)
  22. ประโยชน์ของกระทือ

    1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความสวยงามในสถานที่ต่าง ๆ
    2. ดอกกระทือสามารถนำไปใช้ปักแจกันเพื่อความสวยงามได้
    3. กระทือเป็นพืชที่มีสารอาหารน้อย แต่สำหรับบางท้องถิ่นก็มีการใช้หัวกระทือในการประกอบอาหาร ซึ่งเนื้อในจะมีรสขมเล็กน้อย ต้องนำมาหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนาน ๆ ก่อนนำมารับประทาน โดยทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีการใช้เหง้าไปแกงกับปลาย่างเพื่อใช้รับประทาน
    4. ในจังหวัดกาญจนบุรีมีการนำดอกแห้งของกระทือและเหง้ากระทือมาใช้รับประทานเป็นผักหรือใส่ในน้ำพริกรับประทาน
    5. หน่ออ่อนหรือต้นอ่อนกระทือสามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกได้
    6. สารสกัดจากกระทือด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ผลดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, หนังสือรักษาโรคด้วยสมุนไพร (ยุวดี จอมพิทักษ์), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เภสัชเวทตำรายาแผนโบราณ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์), ประสิทธิภาพของพืชสมุนไพรวงศ์ขิงในการป้องกันกําจัดเหา (มยุรา สุนย์วีระ), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (en)

ภาพประกอบ :www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)