อินทนิลน้ำ

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


อินทนิลน้ำ ชื่อสามัญ Queen’s flower, Queen's crape myrtle, Pride of India, Jarul

อินทนิลน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. จัดอยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE (เป็นคนละชนิดกับต้นอินทนิลบก ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia macrocarpa Wall.)

สมุนไพรอินทนิลน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะแบกดำ (กรุงเทพ), ฉ่วงมู ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), บางอบะซา (นราธิวาส, มลายู-ยะลา), บาเย บาเอ (มลายู-ปัตตานี), อินทนิล (ภาคกลาง, ภาคใต้) เป็นต้น และยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระนองและจังหวัดสกลนครอีกด้วย

ลักษณะของอินทนิลน้ำ

  • ต้นอินทนิลน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เจริญเติบโตเร็วหากปลูกในที่เหมาะสม ต้นมีความสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเล็กและมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือจากพื้นดินขึ้นมาไม่มาก จึงมีเรือนยอดที่แผ่กว้าง เป็นพุ่มลักษณะคล้ายรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น (ถ้าเป็นต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่ามักจะมีเรือนยอดคลุมลำต้นประมาณ 9/10 ส่วนของความสูงของต้น) ส่วนผิวเปลือกต้นอินทนิลน้ำจะมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มักจะมีรอยด่าง ๆ เป็นดวงขาว ๆ อยู่ทั่วไป ผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกมีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ที่เปลือกในจะออกสีม่วง นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป รวมไปถึงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำห้วย หรือในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่จะพบได้มากสุดตามป่าดงดิบทางภาคใต้ และยังพบในป่าพรุหรือป่าบึงในของภาคใต้อีกด้วย นอกจากนี้ต้นอินทนิลน้ำยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระนองและจังหวัดสกลนครอีกด้วย

ต้นอินทนิลน้ำ

  • เนื้อไม้อินทนิลน้ำ เมื่อยังใหม่สดอยู่จะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพูอ่อน พอนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงปานกลาง เหนียวและทนทาน ใช้เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย ขัดเงาได้เป็นเงางาม
  • ใบอินทนิลน้ำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปทรงขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-26 เซนติเมตร ใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบบนหรือเบี้ยวเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม มีเส้นแขนงใบประมาณ 9-17 คู่ เส้นโค้งอ่อนและจรดกับเส้นถัดไป บริเวณใกล้ ๆ ขอบของเส้นใบย่อยจะเห็นไม่ค่อยชัดนัก ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกลี้ยงและไม่มีขน

ใบอินทนิลน้ำ

  • ดอกอินทนิลน้ำ ดอกใหญ่มีหลายสี เช่น สีม่วงอมชมพู สีม่วงสด หรือม่วงล้วน ออกดอกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ ๆ ปลายกิ่ง มีความยาวถึง 30 เซนติเมตร ที่ส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลม ๆ เล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่ผิวนอกของกลีบฐานดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปทรงกรวยหงาย จะมีสีสันนูนตามยาวเห็ดชัด และมีเส้นขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ประปราย ดอกอินทนิลน้ำมีกลีบดอกบาง ลักษณะเป็นรูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบจะเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีรัศมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และมีรังไข่กลมเกลี้ยง จะเริ่มออกดอกได้เมื่อมีอายุประมาณ 4-6 ปี

สมุนไพรอินทนิลน้ำ

รูปอินทนิล

  • ผลอินทนิลน้ำ ลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง ๆ กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.6 เซนติเมตร ที่ผิวของผลอินทนิลจะเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ผลมีสีน้ำตาลแดง ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแยกออกเป็น 6 เสี่ยง และจะเผยให้เห็นเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีปีกเป็นครีบบาง ๆ ทางด้านบน

ผลอินทนิลน้ำ

สมุนไพรอินทนิลน้ำ มีสรรพคุณที่โดดเด่นคือมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยลดไขมันและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนของใบ เปลือก ราก และเมล็ดอินทนิลน้ำ

สรรพคุณของอินทนิล

  1. ใบอินทนิลน้ำมีรสขมฝาดเย็น ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยใช้ใบแก่เต็มที่ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มในตอนเช้า (ใบแก่)
  2. ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการสกัดสารจากใบอินทนิลน้ำด้วยแอลกอฮอล์ นำไปทำให้เข้มข้นจนได้สารสกัด 3 mg./ml. แล้วนำไปทำเป็นยาเม็ดขนาดเม็ดละ 250 mg. ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ลดลง (ใบ)
  3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งได้มีการทดลองทั้งในประเทศไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ โดยใช้ส่วนของใบแก่เต็มที่ เมล็ด และเปลือกผลในการทดลอง ซึ่งพบว่ามันมีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน (ใบแก่, เมล็ด, เปลือกผล)
  4. เมล็ดช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ด)
  5. ช่วยแก้ไข้ (เปลือก)
  1. รากมีรสขม ช่วยรักษาแผลในช่องปากและคอ (ราก)
  2. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือก)
  3. ใช้เป็นยาสมานท้อง (ราก)
  4. แก่นมีรสขม ใช้ต้มดื่มรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้ (ใบ, แก่น)
  5. ส่วนข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอินทนิลน้ำ ได้แก่ ช่วยต้านไวรัส ยับยั้งเชื้อรา ช่วยลดอาการอักเสบ
  6. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, แก่น, เมล็ด) แต่ก่อนจะใช้ใบอินทนิลน้ำมารักษาโรคเบาหวาน ควรให้แพทย์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือตรวจปัสสาวะก่อนว่า มีปริมาณน้ำตาลในเลือดอยู่เท่าใด เมื่อทราบปริมาณที่แน่นอนแล้วให้ปฏิบัติดังนี้
    • ให้ใช้ใบอินทนิลน้ำตากแห้งจำนวน 10% ของระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจได้ แล้วนำใบมาบีบให้แตกละเอียดและใส่น้ำดื่มเท่าปริมาณความต้องการที่ใช้ดื่มต่อวัน เทลงในหม้อเคลือบหรือหม้อดิน (ไม่ควรใช้หม้ออลูมิเนียมต้มยา) หลังจากนั้นเคี่ยวจนเดือดประมาณ 15 นาที
    • แล้วนำน้ำที่ได้จากการเคี่ยวมาชงใส่ภาชนะไว้ดื่มแทนน้ำตลอดวัน ทำแบบนี้ติดต่อกันประมาณ 20-30 วัน แล้วค่อยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหนึ่ง
    • เมื่อตรวจแล้วหากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเหลือเท่าใดก็ให้ลดใบอินทนิลน้ำลงตามสูตรเดิม (ใช้ใบปริมาณ 10% ของระดับน้ำตาลในเลือด) แล้วก็นำมาเคี่ยวแทนน้ำดื่มทุก ๆ วันติดต่อกันประมาณ 15 วัน แล้วค่อยไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหนึ่ง
    • ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนอยู่ในระดับปกติ และให้งดใช้อินทนิลน้ำชั่วคราว
    • แต่ถ้าหากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อใด ก็ให้รับประทานอินทนิลน้ำใหม่ สลับไปจนกว่าจะหายจากโรคเบาหวาน

ประโยชน์ของอินทนิลน้ำ

  • นิยมปลูกไว้เป็นไม้ริมทางและเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกและใบที่สวยงาม ให้ร่มเงาและเจริญเติบโตเร็ว
  • ใบอ่อนนำมาตากแดดใช้ชงเป็นชาไว้ดื่มได้ ช่วยแก้เบาหวานและช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย จนได้มีการนำไปแปรรูปเป็นสมุนไพรอินทนิลน้ำแบบสำเร็จรูปในรูปแบบแคปซูลและแบบชงเป็นชา
  • เนื้อไม้อินทนิลน้ำเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพราะมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง เหนียว และทนทาน ตกแต่งขัดเงาได้ง่าย โดยเนื้อไม้นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ใช้ทำกระดาษ พื้น ฝา รอด ตง กระเบื้องไม้มุงหลังคา คานไม้ ไม้กั้น และส่วนประกอบอื่น ๆ และยังใช้ทำเรือใบ เรือแจว เรือเดินทะเล แจวพายเรือ กรรเชียง ไถ รถ ซี่ล้อ ตัวถังเกวียน ไม้นวดข้าว กระเดื่อง ครกสาก บ่อน้ำ ร่องน้ำ กังหันน้ำ หมอนรางรถไฟ ถังไม้ ลูกหีบ หีบศพ เปียโน ฯลฯ

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด (เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก), หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรรมเวช), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)

ภาพประกอบ : agkc.lib.ku.ac.th, www.wattano.ac.t, www.the-than.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/อินทนิลน้ำ/