เทียนบ้าน

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


เทียนบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)[1],[3]

สมุนไพรเทียนบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน (ภาคกลาง), จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง (จีน), จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ เป็นต้น[1],[3],[4],[9]

ลักษณะของเทียนบ้าน

  • ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ เนื้อใส โคนต้นเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ปลูกได้ง่าย โตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ชอบแสงแดดอ่อน ๆ จึงควรปลูกในที่ร่มรำไร[1],[3],[4],[11]

ต้นเทียนบ้าน

ต้นเทียนดอก

  • ใบเทียนบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าลำต้น หลังใบและท้องใบเรียบ บ้างว่าผิวของเนื้อใบสากและหยาบ[1],[3],[4]

ใบเทียนบ้าน

  • ดอกเทียนบ้าน ออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสมก็ได้ (แต่นิยมนำดอกขาวมาใช้ทำยา) ดอกมีกลีบดอกประมาณ 4-5 กลีบ กลีบดอกอาจซ้อนกันหรือไม่ซ้อนกันก็ได้ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายของกลีบดอกหยักเว้าเป็นลอน ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวานยาว ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ โดยรังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมีสีสดสวย[1],[4],[9],[11]

ดอกเทียนบ้าน

รูปดอกเทียนบ้าน

ดอกเทียนสวน

ดอกเทียนดอก

  • ผลเทียนบ้าน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ผิวผลมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ ผลมีก้านยาวมองเห็นได้ชัดเจน เป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4],[9]

ผลเทียนบ้าน

เมล็ดเทียนบ้าน

สรรพคุณของเทียนบ้าน

  1. รากมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย ใช้กระจายเลือด ขับลมชื้นในร่างกาย (ราก)[4] ส่วนเมล็ดมีพิษ ช่วยกระจายเลือด (เมล็ด)[6] ลำต้นช่วยทำให้เลือดเดินสะดวก (ลำต้น)[6]
  2. ดอกเป็นยาเย็น ใช้บำรุงร่างกาย (ดอก)[6]
  3. เมล็ด ใบ ดอก ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกเลือด (เมล็ด, ใบ, ดอก, ทั้งต้น)[4],[6] บ้างว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือดเช่นกัน (ราก)[8]
  4. ใช้แก้จมูกอักเสบ บวมแดง ด้วยการใช้ยอดสดนำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนเช้าและเย็น (ยอดสด)[5]
  5. ลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือกลืน เพื่อแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (ต้น)[3] ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้ก้างติดคอเช่นกัน โดยใช้เมล็ดสดนำมาตำแล้วกลืนลงไป หรือถ้าไม่มีเมล็ดก็ให้ใช้รากสดนำมาเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนลงไปช้า ๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันเสีย (เนื่องจากยานี้ละลายกระดูกและฟันได้) (เมล็ด, ราก)[6],[9]
  6. ช่วยทำให้อาเจียน (ลำต้น)[6]
  7. เมล็ดเป็นยาขับเสมหะข้น (เมล็ด)[6]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ฝีบริเวณต่อมทอนซิล (ทั้งต้น)[4]
  9. ใช้แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ โดยใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป ให้อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง (เมล็ด)[9]
  10. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับลม (ทั้งต้น[4], ลำต้น[8]) ใบและดอกเป็นยาสลายลม (ใบ, ดอก)[6]

  1. ใบเป็นยาแก้บิด มูกเลือด (ใบ)[8]
  2. ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)[6]
  3. ดอกเป็นยาแก้อาการปวดก่อนมีประจำเดือน (ดอก)[6]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาขับเลือด ขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนไม่มา และใช้เป็นยากระจายเลือด โดยใช้เมล็ดแห้งของต้นเทียนบ้านชนิดดอกขาว 60 กรัม นำมาบดเป็นผงรวมกับตังกุย 10 กรัม และผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม (หรืออาจผสมกับตังกุย 10 กรัม ด้วยก็ได้) วันละ 3 เวลา (เมล็ด)[4],[5],[6],[9]
  5. สำหรับสตรีที่คลอดบุตรยาก ให้ใช้เมล็ดเทียนบ้าน 6 กรัม นำมาบดเป็นผงกินกับน้ำ แต่ต้องระวังอย่าให้ถูกฟัน (เมล็ด)[9]
  6. เมล็ดใช้เป็นยาขับลูกที่ตายในท้องของสตรี (เมล็ด)[6] และช่วยขับรกค้าง (รกไม่ออก) โดยใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดเป็นผงขนาด 3.2 กรัม ใช้รับประทานร่วมกับเหล้าเหลืองอุ่น ๆ (เมล็ด)[9]
  7. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ราก)[8]
  8. ใช้รากเป็นยาแก้ตกเลือด (ราก)[8]
  9. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ซีสต์หรือก้อนเนื้อในมดลูกของสตรี (เมล็ด)[4]
  10. เมล็ดช่วยแก้ตับแข็ง (เมล็ด)[8]
  11. ใช้แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 4-5 ราก นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทาน 3-4 ครั้งก็จะเห็นผล (ราก)[5],[9]
  12. ใบตากแห้งนำมาตำผสมกับพิมเสนใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรังได้ ส่วนรากก็ช่วยรักษาแผลเรื้อรังเช่นกัน (ราก, ใบ)[3],[4],[5],[9] ส่วนเมล็ดใช้แก้แผลติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง (เมล็ด)[8]
  13. ดอกนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกรักษาแผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แผลพุพอง หรือแผลไฟไหม้ได้ หรือจะใช้ใบสดที่ล้างสะอาดแล้วประมาณ 5-10 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกรักษาแผลพุพอง วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[5],[6] ส่วนเมล็ดก็ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้เช่นกัน (เมล็ด))[8]
  14. ใช้แก้แผลอักเสบ แผลเน่าเปื่อย รวมถึงฝีหนอง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น (ใบ)[5],[9] ส่วนลำต้นก็ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยได้เช่นกัน (ลำต้น)[6]
  15. ใช้แก้แผลงูสวัด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอก (ต้น)[5]
  16. ใช้แก้พิษงู แก้แผลงูกัด ด้วยการใช้ต้นสด 160 กรัม นำมาตำเอาน้ำดื่มเป็นยาและเอากากที่เหลือพอกแผล ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษงูเช่นกัน และใช้ใบเป็นยาแก้งูกัด (ต้น, ใบ)[4],[6],[9]
  17. หมอจีนจะใช้ใบของต้นเทียนดอกขาวนำมาตำใช้พอกเป็นยาถอนพิษ ปวดแสบ ปวดร้อน (ใบ)[8]
  18. ใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย (ใบ)[5]
  19. ใช้รักษาฝี ให้ใช้ต้นเทียนดอกทั้งต้น (ไม่รวมราก) 1 ต้น นำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณหัวฝี หรือจะใช้เฉพาะใบสดประมาณ 5-10 ใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย หรือจะใช้กากที่ตำได้จากลำต้นนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นฝีแทนก็ได้ แต่เวลาที่ตำควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สีติดมือ (ใบ, ต้น, ทั้งต้นไม่รวมราก)[1],[2],[3],[5]
  20. ช่วยแก้ฝีอักเสบเกิดที่หลัง ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกหรือใช้ยาสดล้างสะอาดตำและต้ม 2 หม้อ รินเอาน้ำมารวมกันเคี่ยวให้ข้นเป็นครีม ใช้ทากระดาษแก้ว นำมาปิดที่แผล โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 1 ครั้ง (ใบ)[9]
  21. หรือหากเป็นฝีมีหนอง ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝีหนองด้วยเช่นกัน (ต้น, ราก)[4]
  22. หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้แผลหนองเรื้อรัง (ใบ)[6]
  23. ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกหรือทาแก้น้ำกัดมือ (ใบ)[3]
  24. ใบใช้แก้ฝีประคำร้อย แก้ฝีตะมอย (ใบ)[3],[6
  25. หากเล็บขบ เล็บช้ำ (เนื่องจากถูกของหนักตกใส่ ไม่ควรทิ้งไว้นาน เพราะอาจจะทำให้เล็บของคุณเสียได้) ให้ใช้ใบเทียนบ้านประมาณ 2-3 ใบ นำมาตำให้ละเอียดในภาชนะที่เป็นกะลาหรือในถุงที่สะอาด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นภายใน 1-2 ชั่วโมง จะทำให้เล็บหายเขียว และยังช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย แต่จะทำให้เล็บของคุณกลายเป็นสีแดงอมสีน้ำตาล ซึ่งมันจะล้างไม่ออก ต้องรอจนกว่าเล็บจะยาวแล้วค่อยตัดออก (ใบ)[1],[2]
  26. ใช้เป็นยากันเล็บถอด จมูกเล็บหรือซอกข้างเล็บอักเสบบวม ด้วยการใช้ยอดสด 1 กำมือที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำตาลทรายแดงครึ่งช้อนชา ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[5],[9] บ้างว่าใช้ดอกตำพอกเป็นยากันเล็บถอด (ดอก)[8]
  27. หรือหากเล็บเท้าอักเสบบวม หรือเป็นแผลบริเวณเล็บมือ ก็ให้ใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ต้น)[4
  28. ใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียว ฟกช้ำเป็นก้อน แก้หกล้ม บวมแดง ด้วยการใช้รากแห้งบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ผสมกับเหล้ารับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้น 1 แก้ว ผสมกับเหล้าเหลืองกินเป็นยาแก้ฟกช้ำ (ราก, ทั้งต้น)[4],[8],[9]
  29. เมล็ดและทั้งต้นช่วยแก้อาการปวดบวม (เมล็ด, ทั้งต้น)[4] ลำต้นมีสรรพคุณแก้ปวด แก้บวมเป็นพิษ (ลำต้น)[6]
  30. ใบช่วยแก้บวม แก้อาการเจ็บปวดเนื่องจากการกระทบกระแทก ดอกช่วยแก้ปวด ปวดเอว ลดบวม (ใบ, ดอก)[6] รากช่วยลดบวม (ราก)[8]
  31. ช่วยแก้หน้าบวมและขาบวม ให้ใช้รากและใบสดผสมกับน้ำตาลทราย ตำให้ละเอียดแล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่บวม (รากและใบ)[9]
  32. ช่วยขับลมชื้น แก้ปวดไขข้อ ใช้รักษาอาการปวดข้อกระดูกอันเนื่องมาจากลมชื้น ด้วยการใช้ต้นสด 40 กรัมผสมกับเหล้ารับประทาน หรือจะใช้ใบสด 30 กรัม (ใบแห้งให้ใช้ 15 กรัม) นำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าดื่มเป็นยาแก้ปวดข้อก็ได้ ส่วนดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดข้อเช่นกัน (ต้น, ใบ, ดอก)[4],[5],[6],[9]
  33. ช่วยแก้เหน็บชา (ลำต้น)[6]
  34. ช่วยทำให้เส้นเอ็นคลายตัว (ลำต้น)[8]
  35. ช่วยแก้อาการปวดกระดูก (ราก)[8]
  36. ดอกและใบใช้ตำพอก แก้อาการปวดตามข้อมือข้อเท้าของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ (ใช้รักษาอาการเล็บขม มีหนองได้ด้วย) (ดอกและใบ)[4]
  37. ใบและรากนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกเศษแก้วตำเนื้อหรือใช้รักษาเสี้ยน (ใบและราก)[3],[5]
  38. น้ำคั้นจากต้นช่วยบำรุงผิวและลดริ้วรอย (ต้น)[8]

วิธีใช้สมุนไพรเทียนบ้าน

  • การเก็บมาใช้เป็นยา ถ้าเป็นส่วนของใบหรือทั้งต้น ให้เก็บในช่วงฤดูร้อนแล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือจะใช้สด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นดอก ให้เก็บตอนที่ดอกบานเต็มที่แล้ว แล้วนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือถ้าเป็นเมล็ด ก็ให้เลือกเก็บตอนแก่เต็มที่ก่อนแตก แล้วนำมาตากแห้ง เอาสิ่งปลอมปนออก แล้วเก็บไว้ใช้[9]
  • การใช้ตาม [4],[6],[8] หากใช้ทั้งต้น ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะทำเป็นเม็ดหรือผงรับประทานก็ได้ (หากใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง), ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 10-15 กรัม (ใบสดใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (หากใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือต้มอาน้ำชะล้าง) หรือเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 2-4 กรัม (บ้างว่า 2.5-8 กรัม) นำมาทำเป็นเม็ดหรือเป็นผง (ใช้ภายนอก ให้นำมาบดเป็นผง) แต่ถ้าเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน ส่วนรากนั้น ถ้าเป็นรากแห้งให้นำมาบดเป็นผงรับประทานหรือแช่กับเหล้ากิน (หากใช้ภายนอก ให้นำมาตำแล้วพอก) และถ้าเป็นเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม หรือใช้ครั้งละ 2-5 กรัม นำมาบดเป็นผงหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาทำเป็นยาเม็ด[4],[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนบ้าน

  • ในใบของต้นเทียนบ้าน มีส่วนประกอบที่ชื่อ 2-methoxy-1, 4-naphthaquinone ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราในพืชได้[8]
  • ในดอกพบว่ามีสาร Anthocyanins, Cyanidin, Delphinidin, Harands, Quercetin, Pelargonidin, Malvidin Kaempferol ส่วนรากพบ Cyanidin, mono-glycosidise เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่ามีน้ำมันระเหยกับน้ำมัน และในน้ำมันพบสาร เช่น Balsaminasterol parinaric acid และโปรตีน เป็นต้น[4],[8]
  • ในเมล็ดเทียนบ้านพบว่ามีสาร Balsaminasterol Parinaric acid และมีน้ำมันและโปรตีนอีกด้วย[4]
  • จากการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจำพวก Dermatophytes ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคผิวหนัง กลาก และฮ่องกงฟุตได้ ส่วนฤทธิ์ในการรักษาฝีนั้นยังไม่มีผู้ทดลอง[8]
  • จากการศึกษาสารสำคัญในเมล็ดที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าเป็นสารจำพวก Peptides ซึ่งประกอบไปด้วย กรดอะมิโน 20 ชนิด และสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอล 95% จากส่วนที่อยู่เหนือดินแห้ง สารสกัดจากทั้งต้นด้วยเมทานอล คือ 2-methoxy-1,4-naphtho-quinone (MNQ) นอกจากนี้สารสำคัญในเทียนบ้านที่เป็นสารในกลุ่ม Naphthoquinone ซึ่งเรียกชื่อเฉพาะว่า lawsone พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด[7]
  • มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นเทียนบ้าน เมื่อใช้สารสกัดจากดอกและใบก็พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ ส่วนน้ำที่สกัดจากรากและลำต้นไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus แต่เมื่อทดสอบด้วยสารสกัดเอทานอล 95% จากใบและดอกเทียนบ้าน พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อStaphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ ในขณะที่สารสกัดนี้จากลำต้นและรากกลับไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้เมื่อทำการทดสอบสารสกัดเมทานอลและน้ำสกัดจากลำต้นและใบในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด พบว่าสารสกัดจากลำต้นและใบทั้ง 2 แบบสามารถต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ โดยสารสกัดจากใบจะมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และสารสกัดด้วยเมทานอลจะมีฤทธิ์ที่ดีกว่าน้ำสกัด และจากการทดสอบสารสกัดเอทานอล 95% และน้ำสกัดจากส่วนต่าง ๆ ก็พบว่าสารสกัดจากทุกส่วน ยกเว้นสารสกัดจากลำต้นด้วยน้ำสามารถต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ดี[7]
  • จากการทดสอบน้ำสกัดจากใบและลำต้น โดยนำน้ำสกัดที่ได้มาย้อมผ้าไหมและผ้าขนสัตว์ แล้วทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ของผ้าที่ถูกย้อม พบว่าฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียของสีย้อมจะขึ้นอยู่กับเวลาของการย้อมและความเข้มข้นของสีย้อม และยังพบว่าผ้าไหมที่ย้อมสีแล้วจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าผ้าขนสัตว์ โดยสีย้อมที่ได้จากใบจะมีฤทธิ์กว่าส่วนของลำต้น[7]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของดอกเทียนบ้าน มีการศึกษาถึงสารสำคัญที่ได้จากกลีบดอกของต้นเทียนบ้านที่มีฤทธิ์เป็น selective cyclooxy genase-2 (COX-2) inhibitor โดย enzyme cyclooxygenase-2 จะก่อให้เกิดสารกระตุ้นการอักเสบหลายชนิด เช่น histamine, prostaglandin โดยมีสารสำคัญเป็นสารจำพวก 1,4-naphthoquinone sodium salts[7]
  • มีการทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากพืชชนิดต่าง ๆ โดยใช้กระดาษซับสารสกัดวางบนวุ้นเพาะเชื้อ พบว่าสารสกัดอะซีโตน ไดเอทิลอีเทอร์ เอทานอล และน้ำสกัดจากส่วนเหนือดินของต้นเทียนบ้าน มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus[7]
  • สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบเทียนบ้านมีสาร Methyl lawsone ซึ่งสามารถช่วยฆ่าเชื้อราที่ทำให้เป็นโรคกลากและฮ่องกงฟุตได้[1],[2]
  • น้ำที่สกัดได้จากดอกเทียนบ้านมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อบิด เชื้อไทฟอยด์ และเชื้อ Staphylococcus ได้[4]
  • น้ำที่สกัดได้จากเทียนบ้านในความเข้มข้น 1 ต่อ 3 พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อราในหลอดทดลองได้หลายชนิด[4]
  • เมล็ดเทียนบ้านสกัดด้วยน้ำมีผลกระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่ท้องและไม่ท้อง และต่อมมดลูกของหนูขาวที่ท้อง ทำให้มดลูกเกิดการหดตัวเร็วและแรงขึ้น ส่วนน้ำสกัดหรือส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ดจะมีผลทำให้ลำไส้เล็กที่แยกออกมาของกระต่ายเกิดการคลายตัว[9]
  • ส่วนการใช้เป็นยาคุมกำเนิด ได้มีการทดสอบให้หนูขาวเพศเมียกินน้ำต้มจากเมล็ด 10 วัน พบว่าจะออกฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดได้เป็นอย่างดี และยานี้จะกดความรู้สึกทางเพศ การทำงานของมดลูก และลดน้ำนม[9]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษ โดยให้หนูกินเมล็ดร่วมกับน้ำในขนาด 3 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ชั่วโมงละ 1 ครั้งรวม 3 ครั้งอยู่หลายวัน พบว่าหนูที่ท้องก็ยังไม่แท้ง และให้กระต่ายกินก็ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด[9]
  • จากการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ ด้วยการทดสอบสารสกัดเอทิลอะซิเตทจากส่วนเหนือดินกับเซลล์ Hela-S3 โดยมี IC50 เท่ากับ 25 มคก./มล. พบว่ามีฤทธิ์อ่อน ๆ แต่ถ้าใช้สารสกัดนี้จากเมล็ดที่มีขายทั่วไปกับเซลล์ดังกล่าว จะมีค่า IC50 มากกว่า 0.3 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ และหากใช้น้ำสกัดหรือสารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นแห้งที่ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. กับเซลล์ดังกล่าวก็ให้ผลเช่นเดียวกัน[7]

ประโยชน์ของเทียนบ้าน

  1. ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้สระผม จะช่วยบำรุงผม ทำให้ผมดกดำได้[3]
  2. ชาวบาหลีในอดีตจะนำใบเทียนบ้านมารับประทานเป็นอาหาร[10]
  3. น้ำคั้นจากใบส