เถาว์เอ็นอ่อน

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


เถาเอ็นอ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cryptolepis dubia (Burm.f.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cryptolepis buchananii Roem. & Schult.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]

สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเถาเอ็น[1] เครือเขาเอ็น[4] (เชียงใหม่), เขาควาย (นครราชสีมา), เสน่งกู (บุรีรัมย์), หญ้าลิเลน (ปัตตานี), หมอตีนเป็ด (สุราษฎร์ธานี), ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ), เครือเอ็นอ่อน (ภาคอีสาน), เมื่อย (ภาคกลาง), กวน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), นอออหมี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กู่โกวเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4],[5],[7]

ลักษณะของเถาเอ็นอ่อน

  • ต้นเถาเอ็นอ่อน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น เป็นไม้เลื้อยจำพวกเถาเนื้อแข็ง เถาลำต้นกลม เปลือกเถาเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลอมสีดำหรือเป็นสีแดงเข้มและมีลายประตลอดเถา ยาวประมาณ 4-5 เมตร ก้านเล็ก มีสีเทาอมเขียวและไม่มีขนปกคลุม เมื่อเถาแก่เปลือกจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น ๆ มียางสีขาวข้นทั้งต้น พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามป่าราบหรือตามที่รกร้างทางจังหวัดหวัดสระบุรี[1],[3],[4]
  • ใบเถาเอ็นอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนมีหางสั้น โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมันและลื่น ท้องใบเรียบเป็นสีเขียวนวล ใบอ่อนมีขนปกคลุม ส่วนใบแก่ไม่มีขน เส้นใบตามขวางจะเป็นเส้นตรงไม่โค้ง ใบหนึ่งจะมีประมาณ 30 คู่ ส่วนก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบเถาเอ็นอ่อน

  • ดอกเถาเอ็นอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ[1],[4]

รูปดอกเถาเอ็นอ่อน

  • ผลเถาเอ็นอ่อน ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระสวย กลมยาว ยาวประมาณ 6.5-10 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางฝักประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฝักมีเนื้อแข็ง โคนผลติดกัน ปลายผลแหลม ผิวผลเป็นมันลื่น พอแก่แล้วจะแตกอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวติดอยู่และปลิวไปตามลมได้ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปกลมยาวแบน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[4]

ผลเถาเอ็นอ่อน

สรรพคุณของเถาเอ็นอ่อน

  1. ราก เถา และใบมีรสขมเบื่อเอียน เป็นยาเย็น มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาฟอกเลือด (ราก, เถา, ใบ)[4]
  2. เถานำมาต้มกินจะช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (เถา)[3]
  3. เมล็ดมีรสขมเมา เป็นยาขับลมในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ทำให้ผายและเรอ ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เมล็ด)[1],[2],[3]
  4. เถาใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียว โดยใช้เถาที่บดเป็นผง 0.35 กรัม ผสมกับเหล้ารับประทาน หรือใช้ยาแห้งประมาณ 5-6 กรัม นำมาดองกับเหล้ารับประทานครั้งละ 5 ซีซี วันละ 3 ครั้ง (ตำรับนี้ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ด้วย) (เถา)[4]
  5. ใบและเถาเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการปวดเมื่อย โดยใบมีรสเบื่อเอียน ใช้ทำเป็นลูกประคบ ด้วยการนำใบมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาห่อกับผ้าทำเป็นลูกประคบแก้เมื่อยขบ แก้ปวดเสียวเส้นเอ็น ช่วยคลายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นที่ตึงยืดหย่อน ส่วนเถามีรสขมเบื่อมัน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้เส้นเอ็นพิการ เส้นแข็ง แก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้อาการปวดบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง แก้ขัดยอก (ใบ, เถา)[1],[2],[3],[4],[6]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน

  • เนื่องจากเถาเอ็นอ่อนเป็นสมุนไพรที่มีสารซึ่งมีฤทธิ์ต่อการกระตุ้นของหัวใจ ดังนั้นในการรับประทานจึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานจนเกินไป[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเถาเอ็นอ่อน

  • สารสำคัญที่พบในเถาเอ็นอ่อน คือ สาร Cryptolepisin ซึ่งเมื่อนำสารชนิดนี้ที่สกัดได้จากเถาเอ็นอ่อนในอัตราส่วน 2.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของสัตว์ทดลองมาฉีดกับหัวใจที่อยู่นอกร่างของสัตว์ เช่น หนูหรือกระต่าย พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจให้แรงขึ้น แต่จะทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง และเมื่อกระตุ้นต่อไปสักพักหนึ่งหัวใจจะหยุดเต้นในท่าระหว่างบีบตัว[4]

ประโยชน์ของเถาเอ็นอ่อน

  • เถาเอ็นอ่อนเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือมีอาการปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น[5]
  • นอกจากจะใช้เป็นสมุนไพรแล้ว ในปัจจุบันยังพบว่ามีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้านกันมากขึ้นอีกด้วย[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เถาเอ็นอ่อน (Thao En On)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 140.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “เถาเอ็นอ่อน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 120.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เถาเอ็นอ่อน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 354.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “เถาเอ็นอ่อน”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 252.
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เถาเอ็นอ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [18 มี.ค. 2014].
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เถาเอ็นอ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 มี.ค. 2014].
  7. ไทยโพสต์.  “เถาเอ็นอ่อน สู้เมื่อยขบ เมื่อยตึง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [18 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Shubhada Nikharge, tola)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai) https://medthai.com/เถาเอ็นอ่อน