เสน่ห์จันแดง

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


เสน่ห์จันทน์แดง

เสน่ห์จันทน์แดง ชื่อสามัญ King of Heart

เสน่ห์จันทน์แดง (เสน่ห์จันทร์แดง) ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalomena rubescens (Roxb.) Kunth (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calla rubescens Roxb., Chamaecladon rubescens (Roxb.) Schott, Zantedeschia rubens K.Koch) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]

ลักษณะของเสน่ห์จันทน์แดง

  • ต้นเสน่ห์จันทน์แดง หรือ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของเอเชียและอเมริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเกิดจากหัวใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ประกอบด้วยก้านใบหลาย ๆ ก้าน ไม่แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงได้ประมาณ 45-60 เซนติเมตร นอกนั้นจะเป็นก้านใบและตัวใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกหัว เป็นพรรณไม้ในที่ร่มหรือแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขัง[1],[2]
  • ใบเสน่ห์จันทน์แดง ใบเป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงส่วนยอดของลำต้น ก้านใบเป็นสีแดงและยาวกว่าแผ่นใบ โคนก้านใบเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึก ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 นิ้ว และยาวประมาณ 6-12 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียวสด เส้นใบเป็นสีแดง (หากโดนแสงแดดมากเกินไปจะทำให้ใบเปลี่ยนสี) ส่วนก้านใบมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมแดง หากเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ก้านใบอาจเป็นสีแดงปนดำหรือเป็นสีแดงเลือดหมูตลอดทั้งก้านใบ[1],[2]



ใบว่านเสน่ห์จันทน์แดง

  • ดอกเสน่ห์จันทน์แดง ออกดอกเป็นช่อบริเวณกลางต้น ลักษณะของดอกเป็นแท่งกลมยาว ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-4 นิ้ว มีลักษณะอวบและจะมีกาบสีแดงห่อหุ้มเอาไว้[1]

ดอกเสน่ห์จันทน์แดงดอกว่านเสน่ห์จันทน์แดง

  • ผลเสน่ห์จันทน์แดง ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก จับดูจะนุ่ม ๆ[1]

สรรพคุณของเสน่ห์จันทน์แดง

  • ทั้งต้นมีสารพิษชนิดหนึ่งอยู่ ฉะนั้นจึงใช้เป็นยาพิษ (ทั้งต้น)[1]
  • ใบใช้ภายนอกเป็นยารักษาแผล (ใบ)[1]
  • หัวหรือเหง้าใช้เป็นยาทาเฉพาะภายนอก โดยจะช่วยแก้โรคไขข้ออักเสบได้ (หัว)[1]

ข้อควรระวัง : เสน่ห์จันทน์แดงทั้งต้นรวมทั้งใบจะมีสารพิษชนิดหนึ่ง ฉะนั้นการนำมาใช้เป็นยาควรใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสน่ห์จันทน์แดง

  • เมื่อใช้ไอน้ำกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยและมีสารประกอบจำพวก linalyl acetate, -terpineol-l-linalool 60%[1]

ประโยชน์ของเสน่ห์จันทน์แดง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้กระถางประดับทั่วไปในบริเวณบ้าน หรือปลูกตามแนวต้นไม้ใหญ่ เสน่ห์จันทน์แดงเป็นไม้ประดับที่มีรูปทรงสวยงาม เพราะความโดดเด่นของแผ่นใบที่เป็นรูปหัวใจที่มีสีเขียวเข้มตัดกับสีแดงเข้มของก้านใบ ว่านชนิดนี้เป็นว่านชนิดที่เจริญเติบโตได้ทั้งในที่ร่มและในที่มีแสงแดดจัด แต่เป็นพืชที่ไม่ค่อยทนทาน จึงต้องการการดูแลรักษาอยู่พอสมควร โดยควรปลูกในดินร่วนหรือดินทราย และควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งเช้าและเย็น[2]
  • เสน่ห์จันทน์แดงเป็นไม้ประดับที่มีความสามารถในการดูดสารพิษในอากาศได้ปานกลาง โดยเฉพาะสารพิษจำพวกแอมโมเนีย[2]
  • ในด้านของความเป็นมงคล ว่านเสน่ห์จันทน์แดงจัดเป็นไม้มงคลในเรื่องมหานิยม หากปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จะเป็นศรีมีเสน่ห์แก่ครอบครัว และหากผู้ใดจะคิดเข้ามาทำร้ายใด ๆ ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะจะทำให้คนร้ายผู้นั้นกลับมีจิตใจที่มีเมตตาขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากปลูกไว้แล้วจะโชคดี ถ้านำมาตั้งไว้ในร้านค้าจะช่วยให้ค้าขายดีมีกำไร เป็นเมตตามหานิยมแก่คนทั่วไป[2] และหัวยังใช้แกะเป็นรูปนางกวักได้เช่นเดียวกับว่านเสน่ห์จันทน์เขียว ส่วนวิธีการปลูกนั้นให้นำอิฐหักทุบให้แหลกละเอียดตากน้ำค้างไว้ 1 คืน แล้วเอามาปนดินที่ปลูกด้วยหัวว่าน โดยให้ปลูกในวันจันทร์ และเวลารดน้ำให้เสกด้วยคาถานะโม พุทธายะ 3 จบ (ว่านเสน่ห์จันทน์แดงนี้เป็นว่านคู่กันกับว่านเสน่ห์จันทน์เขียว หากนำมาปลูกไว้คู่กันจะทำให้ขลังดีนักแล)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เสน่ห์จันทน์แดง (เสน่ห์จันทร์แดง)”.  หน้า 786-787.
  2. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านเสน่ห์จันทน์แดง”., “เสน่ห์จันทน์แดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com.  [07 ต.ค. 2014].
  3. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ความเชื่อเกี่ยวกับว่านเสน่ห์จันทน์แดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th.  [07 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by François Guibert, Leo breman, jayjayc, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai) https://medthai.com/