ยอบ้าน

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ชื่ออื่นๆ:มะตาเสือ ยอ แยใหญ่
ชื่อสามัญ:Noni, Indian mulberry, Noni Indian mulberry, Great morinda, Mengkudu (Malay), Nonu/Nono (Pacific Islands)
ชื่อวิทยาศาสตร์:Morinda citrifolia L.
วงศ์:RUBIACEAE
ถิ่นกำเนิด:อินเดีย ถึงตอนใต้ของจีน
ลักษณะทั่วไป:ไม้พุ่มขนาดเล็ก ทรงพุ่มแน่นทึบ แตกกิ่งก้านจำนวนมาก
ฤดูการออกดอก:ติดดอกออกผลตลอดปี
การขยายพันธุ์:การเพาะเมล็ดแก่ เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากมีเมล็ดจำนวนมาก
ข้อดีของพันธุ์ไม้:ใช้เป็นอาหารและสมุนไพรรักษาโรค
ข้อแนะนำ:
การเก็บลูกยอควรเก็บเมื่อผลเริ่มแก่ (เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอ่อน)
การเก็บผลเพื่อเอาเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ ควรเก็บเมื่อผลเปลี่ยนจากสีเหลืองมาเป็นสีขาว
ข้อมูลอื่นๆ:
ใบ มีวิตามินเอ 40,000 ยูนิตสากลต่อ 100 กรัม มีคุณสมบัติในการบำรุงสายตา หัวใจ
- คั้นน้ำทาแก้โรคเก๊าท์ ปวดตามข้อเล็กๆ ของนิ้วมือ นิ้วเท้า สระผมฆ่าเหา แก้กระษัย
- ใช้ใบปรุงเป็นอาหาร แก้ท้องร่วง
- ใช้ใบอ่อนรองก้นในห่อหมก ใช้แกงอ่อมกับปลาดุก อร่อยมาก ผู้รวบรวมเคยกินมาตั้งแต่เด็ก
ราก ใช้เป็นยาระบาย แก้กระษัย ใช้สกัดสีออกมา เป็นสีย้อมผ้าได้ โดยผสมส่วนของเกลือต่างๆ
สามารถเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ ได้ตามต้องการ ซึ่งสีเดิมของรากจะมีสีเหลือง หรือเหลืองปนแดง หากผสมตามส่วนด้วยเกลือ อาจจะได้สีแดง ชมพู น้ำตาลอ่อน ม่วงแดง หรือดำ เป็นต้น
ผล โตเต็มที่แต่ไม่สุก จิ้มน้ำผึ้งรับประทาน มีคุณสมบัติเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ กระเพาะอาหาร แก้เหงือกเปื่อยเป็นขุมบวม ขับเลือดลม ขับโลหิตประจำเดือน ผลดิบ ต้มน้ำรับประทานกับรากผักชี แก้อาการอาเจียนของหญิงมีครรภ์
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
นำผลยอโตเต็มที่แต่ไม่สุก ฝานเป็นชิ้นบางๆ ย่างหรือคั่วไฟอ่อนๆ ให้เหลืองกรอบ ใช้ครั้งละ 1 กำมือ (10-15 กรัม) ต้มหรือชงกับน้ำ เอาน้ำที่จิบทีละน้อย และบ่อยๆ ครั้งจะได้ผลดีกว่าดื่มครั้งเดียว
สารเคมี : ผลยอมีสารเคมี Asperuloside, caproic acid, caprylic acid และ glucose
การทำน้ำลูกยอ
1. นำลูกยอสุกห่ามๆ มาล้างน้ำให้สะอาด แคะเอาเม็ดออก ปั่นแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผลไม้เข้มข้นชนิดอื่น เช่น น้ำสับปะรด หรือน้ำมะเขือเทศ เพื่อลดกลิ่นของลูกยอและเพิ่มรสชาติดีขึ้น แต่ถ้าต้องการรสหวานเล็กน้อย ให้นำน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่นพอประมาณแล้วนำไปผสมกับน้ำลูกยอที่คั้นได้ตามต้องการ
2. ปัจจุบันนิยมนำลูกยอมาปั่นเป็นน้ำลูกยอคั้นสด เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด อีกทั้งสารสำคัญในลูกยอยังมีความคงตัวอยู่เช่นเดียวกับวิธีอื่นๆ แต่ปัญหาจะอยู่ที่รสฝาดและกลิ่นฉุน อาจดื่มได้ลำบาก การนำน้ำลูกยอที่คั้นได้ผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น น้ำองุ่น น้ำบลูเบอรี่ น้ำสับปะรด น้ำฝรั่ง โดยใช้น้ำลูกยอ 9 ส่วน น้ำผลไม้อื่นๆ 1 ส่วนจะช่วยให้กลิ่นและรสชาติของน้ำลูกยอดีขึ้น
คุณค่าของน้ำลูกยอ
หากดื่มน้ำลูกยอคั้นสดเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์และสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน รักษาโรคภูมิแพ้ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้นอนหลับเป็นปกติ มีฤทธิ์ต้านทานโรคมะเร็งและระงับการเติบโตของเซลล์มะเร็งเนื้องอก ผลข้างเคียงจากการดื่มน้ำลูกยอคั้นสดพบน้อยมาก บางคนอาจเกิดอาการท้องอืด หรือระบายท้องในครั้งแรกซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปได้โดยลดขนาดการรับประทานลง

 
ข้อควรระวัง
space40น้ำลูกยอมีธาตุโปแตสเซียมสูงมากเช่นเดียวกับน้ำมะเขือเทศ ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังจึงไม่ควรรับประทาน เพราะอาจเกิดอันตรายได้
 space15-15
การทำน้ำลูกยอหมัก
เครื่องปรุง
1. ลูกยอดิบแก่จัดโดยเฉพาะที่เมล็ดมีสีดำ 3 กิโลกรัม
2. น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
3. น้ำสะอาด 10 ลิตร
วิธีทำ
1. นำน้ำกับน้ำตาลทรายแดงผสมให้เข้ากันในถังพลาสติกที่มีฝาปิด (ขนาด 20 ลิตร)
2. ล้างลูกยอให้สะอาดนำไปฝานเป็นชิ้นๆ ใส่ลงในถังแล้วกดให้จมน้ำหนักทุกอย่างรวมกันแล้วปิดฝา
3. นำไปตั้งไว้ในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ 3 เดือน (7 วันแรกให้คนบ่อยๆ เพราะลูกยอจะลอยขึ้นมา หากไม่คนจะขึ้นราเพราะไม่มีจุลินทรีย์) หรืออาจหมักใส่ในโหล ใช้ใบตองปิดส่วนบน แล้วใช้ไม้ขัดเอาไว้ปิดฝา (ไม่ควรปิดแน่น เพราะระหว่างการหมักจะเกิดก๊าซจากการทำงานของจุลินทรีย์อาจทำให้ขวดแตกได้) หรือเอาผ้าขาวบางปิดฝาไว้ แล้วเอาเชือกมัดปากโหลให้แน่น
4. เมื่อหมักครบ 3 เดือนแล้วมีการนำน้ำลูกยอหมักมาใช้ครั้งแรกก่อน ก็ยังสามารถหมักทำน้ำลูกยอต่อไปได้อีก 2 - 3 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งต้องเติมน้ำตาลทรายแดงอีก 1 กิโลกรัม ลงไปในถังหมักเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้เร็วขึ้น ใช้เวลาหมักเพียง 1 เดือนก็สามารถนำมาใช้ได้ น้ำลูกยอหมักที่ได้จะมีความเข้มข้นสูง และมีรสเปรี้ยวและกลิ่นหอม เหมือนน้ำส้มสายชู
วิธีรับประทาน
เราสามารถนำน้ำลูกยอหมักที่ได้มาทำเป็นน้ำลูกยอพร้อมดื่มได้ โดยนำน้ำลูกยอ 2 - 3 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำต้มสุก 1 แก้ว แล้วเติมน้ำตาลทรายหรือน้ำผึ้งปรุงรสตามใจชอบ
การผสมน้ำลูกยอหมักสำหรับประทาน
1. น้ำหมักลูกยอ 1 ส่วน
2. น้ำผึ้ง (ไล่ความชื้นแล้ว) 1 ส่วน
3. น้ำต้มสุก 5 ส่วน
4. นำทั้งส่วนผสมทั้ง 3 อย่างมาผสมกัน อาจเติมเกลือป่นเพิ่มรสชาติก็ได้ สามารถเก็บใส่ขวดแช่ตู้เย็นเก็บไว้รับประทานได้นาน 7 วัน (หากทิ้งไว้นานโดยไม่แช่ตู้เย็น น้ำลูกยอที่เก็บไว้จะเปรี้ยวเพราะจุลินทรีย์ทำงานต้องเติมน้ำผึ้งอีกครั้งเพื่อให้มีรสชาติเหมือนเดิม)
ลูกยอ มีสารสำคัญมากมายถึงกว่า 140 ชนิด ทั้งจำพวกโปรตีน และกรดอะมิโนครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ ทั้งวิตามิน และเกลือแร่ มากมาย
คุณประโยชน์ของ Proxeronine, Enzyme Proxeroninase และ Xeronine
-ซ่อมแซมผนังเซลล์ของทุกอวัยวะทั่วร่างกาย
-ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โดยการจับตัวกับกรดอะมิโนในการสร้างโปรตีน และเสริมการทำงานของโปรตีนให้มีคุณภาพสูงสุด
-ร่างกายแข็งแรง ประสิทธิภาพเต็ม 100%
-เร่งการฟื้นตัวของเซลล์ที่เสียหายทั่วร่างกาย รวมทั้งตับอ่อน
-ลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนไข้เบาหวานเนื่องจากมีการซ่อมแซมของตับอ่อน
-เป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน Melatonin ช่วยทำให้การนอนหลับเป็นไปอย่างสมดุล นอนหลับสบาย สะสมพลังงานได้เต็มที่ ตื่นนอนจะสดชื่น
-ออกฤทธิ์จับกับตัวรับของสารเอ็นดอร์ฟีน (Endorphin Receptor)
-กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว และการสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)
-เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข และอารมณ์สดชื่น กระปรี้กระเป่า
-เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้ดีขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อโรค ต้านมะเร็ง
-Scopoletin ขยายหลอดเลือดโดยตรง และเสริมฤทธ์กับสารเซโรโตนิน (Serotonin) ในร่างกายในการควบคุมการหดและขยายตัวของหลอดเลือดแดง ลดความดันโลหิต
-มีผลต่อสมอง และอารมณ์ จิตใจสงบ สดชื่น มีพลัง
-ต่อต้านการอักเสบ ต่อต้านสารภูมิแพ้ (Histamine) ลดอาการของโรคภูมิแพ้
-ลดอาการปวด และการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เช่น ปวดศรีษะ ปวดเก๊าท์ เอ็นอักเสบ ฯลฯ
-ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา Anthraquinon
-ควบคุมและยับยั้งเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Staphycoccus aureusE. coliSalmonella
-Damnacathal ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปกติไม่ให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยให้ผู้เป็นมะเร็งมีอายุยืนยาวขึ้น
-Terpenes ช่วยให้เซลล์ขับถ่ายสารพิษต่างๆ ออกไปนอกร่างกาย ชะลอความเสื่อมของเซลล์
-Phytonutrients ได้แก่ เบต้าแคโรทีน ไบโอฟลาโวนอยด์ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติมากมายหลายชนิด
-ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ชะลอความแก่ ป้องกันการตีบตันของหลอดเลือดแดง ลดการเกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต
-Dietary Fiber (ใยอาหาร) ช่วยจับโคเลสเตอรอล (Cholesteral) น้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล (Cholesteral) และระดับน้ำตาลในเลือด
-มีกรดอะมิโนถึง 17 ชนิด สร้างโปรตีน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
การค้นพบสารสำคัญในลูกยอ
ดร. ราฟ ไอเนกี (Dr. Ralph Heinicke) นักชีวเคมีชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ได้ทำการวิจัยและค้นพบเอนไซม์ในสับปะรด ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่งเขาตั้งชื่อไว้ว่า เซโรนีน (Xeronine) นับแต่ปี ค.ศ. 1950 และได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนพบว่ามีสารนี้ในลูกยอมากกว่าในสัปปะรดหลายสิบเท่า และได้มีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนรู้ถึงคุณประโยชน์อันน่าอัศจรรย์ของน้ำลูกยอ และเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนี้
1. สร้างเสริมปฏิกิริยาชีวเคมีในเซลล์ให้ดีขึ้น ฟื้นฟูเซลล์ที่เสื่อมโทรม ซ่อมแซมเซลล์ที่ถูกทำลาย เพิ่มพลังในเซลล์ ทำให้มีกำลังและขจัดสารพิษในเซลล์
2. ช่วยสังเคราะห์สารโปรตีนในร่างกาย ทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายดีขึ้น และเป็นผลดีต่อต่อมต่างๆ ในร่างกายทำให้ทำงานดีขึ้น
3. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย และต่อต้านมะเร็ง
4. ลดระดับน้ำตาลในคนไข้เบาหวาน
5. ลดความดันโลหิตสูง
6. ต่อต้านเซลล์มะเร็ง และเสริมภูมิต้านทานโรคโดยการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งและเชื้อโรคต่างๆ
7. ลดและบรรเทาการอักเสบของเซลล์ ลดและบรรเทาโรคภูมิแพ้
8. มีวิตามิน แร่ธาตุ อะมิโนแอซิด ช่วยเสริมอาหารและเพิ่มพลังงานในร่างกาย
9. ระงับความเจ็บปวด และบรรเทาอาหารปวดซ้ำ
10. ช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว
11. ป้องกันและลดอาการของโรคภูมิแพ้
ลูกยอไทย จากการวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ลูกยอสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน และป้องกันมะเร็งได้ โดยในลูกยอจะมีสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคในร่างกาย และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลูกลาม แต่ไม่ได้รักษามะเร็ง นอกจากนี้มีฤทธิ์แก้ปวดกระตุ้นเอนไซม์ในลำไส้เล็กให้ทำงานดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง:
1.http://www.doae.go.th
2.สภากาชาดไทย http://www.redcross.or.th/pr/pr_news.php4?db=3&naid=607
3.http://toptropicals.com/cgi-bin/garden_catalog/cat.cgi?uid=MORINDA_CITRIFOLIA
รวบรวมโดย:

นพพล เกตุประสาท
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/herb/morinda.html