เล็บมือนาง

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


เล็บมือนาง

เล็บมือนาง ชื่อสามัญ Rangoon Creeper, Chinese honey Suckle, Drunen sailor[1],[5],[6]

เล็บมือนาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum indicum (L.) DeFilipps (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Quisqualis indica L.) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1]

สมุนไพรเล็บมือนาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อ้อยช้าง (อุตรดิตถ์), แสมแดง (ชุมพร), เล็บนาว (สตูล), มะจีมั่ง จ๊ามัง จะมั่ง (ภาคเหนือ), นิ้วมือพระนารายณ์ (ใต้), ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), วะดอนิ่ง อะดอนิ่ง (มะลายู-ยะลา), เล็บมือนางต้น เป็นต้น[1],[7]

ลักษณะของเล็บมือนาง

  • ต้นเล็บมือนาง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนทั่วไป โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง เลื้อยพาดพันไปกับต้นไม้อื่น ยาวได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจเลื้อยไปได้ไกลมากกว่า 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เถาอ่อนเป็นสีเขียว ตามลำต้นและเถาอ่อนมีขนสีเหลือหรือสีน้ำตาลอมเทาปกคลุมอยู่ แต่ต้นแก่ผิวจะเกลี้ยง โดยเถาแก่เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนแดง เปลือกค่อนข้างเรียบ หรือมีหนามเล็กน้อย ต้องหาหลักยึดหรือร้านให้ลำเถามีที่เกาะยึด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การตอนกิ่ง หรือเอาเง้าไปปลูกก็ได้ แต่ต้องฝักให้ลึกประมาณ 4 นิ้ว เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี เติบโตได้เร็ว และจะเลื้อยขึ้นเป็นพุ่มตามร้านที่เตรียมไว้ให้[1],[2],[4],[5],[7]

  • ใบเล็บมือนาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปมนแกมขอบขนานหรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม โคนใบจักเว้าเข้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อบาง ท้องใบมีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก ใบอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอกเล็บมือนาง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายกิ่งหรือยอดของลำต้น ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 10-20 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาวสีเขียว โดยมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ปลายแหลม มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดรูปทรงกระบอกยาว ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน โดยช่อดอกเมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม โดยดอกย่อยจะค่อย ๆ ทยอยบาน และเมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะในตอนค่ำ และโคนกลีบดอกมีใบประดับ หลอดของดอกจะโค้งเล็กน้อย และมีเกสรยาวยื่นออกมาจากกลางดอก เกสรเพศผู้มี 10 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[4],[9]

รูปดอกเล็บมือนาง

  • ผลเล็บมือนาง ผลเป็นผลแห้งและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลมีขนาดโตประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[4]

สรรพคุณของเล็บมือนาง

  1. รากและใบมีรสเมาเบื่อ เป็นยาสุขุม ส่วนเมล็ดมีรสชุ่มเป็นยาร้อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ราก,ใบ,เมล็ด)[4]
  2. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก,ใบ)[1],[4]
  3. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้ตานขโมยพุงโร (ทั้งต้น)[1] หรือจะใช้รากผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตานขโมย แก้เด็กเป็นซาง แก้ซางแห้ง แก้ธาตุวิปริต แก้อุจจาระพิการ แก้ตับทรุด และช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[1]
  4. รากและใบใช้เป็นยาแก้ตานซางในเด็ก (ราก,ใบ)[4],[5] ส่วนเมล็ดเป็นยาแก้ตานซาง ตานขโมยในเด็ก (เมล็ด)[4]
  5. ใบหากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น จะเป็นยาแก้ตัวร้อน และแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
  6. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2],[5]
  7. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (เมล็ด)[2]
  8. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ[5], เมล็ด[2])
  9. ช่วยแก้อาการไอ (ต้น,ราก,ใบ,ทั้งต้น)[2],[4],[5]
  10. ผลใช้รับประทานแล้วจะทำให้สะอึก (ผล)[1]
  1. ช่วยแก้อาการสะอึก (ราก,ใบ)[4]
  2. ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด)[4]
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ราก)[1] ส่วนเมล็ดเป็นยาถ่าย (เมล็ด)[2]
  4. ใช้เป็นยาแก้ท้องอืดเฟ้อ (ใบ[2], เมล็ด[4])
  5. ดอกแห้งใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ดอก)[9]
  6. น้ำต้มเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้อหิวาตกโรค (เมล็ด)[2]
  7. ช่วยแก้ถ่ายปวดบิด แก้อาการปวดท้องเนื่องจากมีพยาธิอยู่ภายใน (เมล็ด)[4]
  8. ช่วยขับพยาธิและตานทราง (ทั้งต้น)[1]
  9. เมล็ดมีรสชุ่ม เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน หากเป็นเด็กให้ใช้ 2-3 เม็ด ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 5-7 เม็ด นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือใช้ทอดกับไข่กินก็ได้ ส่วนรากและผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือนเช่นกัน (สารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิได้ แก่ กรดอะมิโน Quisqualic acid) (ราก,ผล,เมล็ด)[1],[2],[3],[4],[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ารากและใบมีรสเมาเบื่อและเป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลมและพยาธิเส้นด้ายได้ดี (ราก,ใบ)[4],[5]
  10. รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้อุจจาระเป็นฟอง เหม็นคาวในเด็ก (ราก,ผล)[1]
  11. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เมล็ด)[2]
  12. เมล็ดนำมาแช่ในน้ำมัน ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง และแผลฝี (เมล็ด)[2]
  13. ใบใช้ตำพอกแก้บาดแผล เป็นยาสมาน หรือใช้ทาแก้แผลฝี แก้อักเสบ (ใบ)[1],[2],[5]
  14. ถ้านำใบไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษ แก้สารพัด แก้กาฬ แก้พิษสำแดงของแสลง (ใบ)[1]
  15. ส่วนสรรพคุณของเล็บมือนางตามตำราการแพทย์แผนจีนระบุว่า ผลสุกมีรสหวานเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าพยาธิและช่วยในการย่อยอาหารให้ดีขึ้น สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้ายได้ ส่วนเนื้อผลก็มีสรรพคุณเหมือนกัน โดยทั่วไปจะนำมาใช้ในรูปแบบของยาตุ้ม หรือจะนำเนื้อผลมาผัด ก็จะมีสรรพคุณช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระบังลมได้ และยังช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น ฆ่าพยาธิ และทำให้ม้ามแข็งแรง (ส่วนใหญ่จะใช้รักษาอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิเส้นด้ายในเด็ก) โดยให้ใช้ผลครั้งละ 9-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้เนื้อผล 6-9 กรัม ทำเป็นยาลูกกลอนหรือยาผงรับประทานครั้งเดียวหรือสองครั้ง (ผล)[8]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [4] ถ้าเป็นเมล็ด สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้เมล็ดแห้งครั้งละ 10-15 กรัม (ประมาณ 5-7 เมล็ด) ส่วนรากให้ใช้รากแห้งครั้งละ 6-10 กรัม และใบให้ใช้ใบสดครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรายาอื่นตามต้องการ[4],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเล็บมือนาง

  • ในส่วนของต้นจะมีสารจำพวก Quisqualic acid ส่วนในใบพบสาร Quercetin-3-glucoside, Pelargonidin-3-glucoside, Potassium quisqualate ส่วนดอกพบสาร Cyanidin monoglycoside, Flavonoids, Rutin, Pelargonidin-3-glucoside ส่วนผลพบสาร Alanine, Aspartic acid, Asparagine, Glycine, Glutamic acid, Histidine, Quisqualic acid, Proline, Leucine, Lysine, Valine, Serine, Threonine และในเมล็ดพบ Potassium quisqualate และไขมันประมาณ 20-27% และน้ำมันระเหยพบสาร เช่น Alkaloid, D-Manitol, Quisqualic acid, Trigonelline เป็นต้น[1],[4]
  • ที่ประเทศเจนได้ทดลองใช้เมล็ดเพื่อเป็นยาขับพยาธิ โดยใช้ผสมกับยา Shin-chun Tsu ซึ่งใช้แทน Santonin ต่อมาได้มีการค้นคว้าจนทราบว่าสารนั้นคือ "ควิสควอลิคแอซิด" (Quisqualic acid) ซึ่งเป็นสารจำพวกกรดอะมิโน น้ำมันที่ได้จากเมล็ดจึงมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง[1]
  • สาร Potassium quisqualate ในเมล็ดเล็บมือนาง มีฤทธิ์เป็นยาขับพยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับพยาธิตัวกลมที่พบในหมู โดยสารดังกล่าวจะออกฤทธิ์ทำให้พยาธิมีอาการมึนชาที่ส่วนหัว[4]
  • น้ำต้มที่ได้จากเมล็ดมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าไส้เดือนและปลิงได้อีกด้วย[4]
  • จากการทดสอบฤทธิ์กานต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยสกัดเมล็ดด้วยน้ำร้อน พบว่าไม่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนอง และแบคทีเรียในลำไส้[1]
  • จากการทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าแมลง โดยใช้กิ่งและใบแห้ง นำมาสกัดด้วยน้ำในขนาด 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าไม่มีผลที่จะฆ่าแมลงสาบอเมริกันได้ และแม้ว่าจะใช้ในขนาดความเข้มข้นต่าง ๆ ก็ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงสาบเยอรมันและมวนได้[1]
  • จากการทดสอบฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ ด้วยการสกัดจากผล โดยกำจัด Histidine ออกไปก่อนนำมาทดสอบ และผลการทดลองพบว่าไม่มีผลต่อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคไทฟอยด์ ไม่ว่าจะนำมาสกัดด้วยเมทานอลหรือน้ำร้อน[1]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเล็บมือนาง

  • ในเมล็ดเล็บมือนางมีพิษ ห้ามรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หากได้รับพิษจะทำให้มีอาการสะอึก อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และมีอาการถ่าย[4],[5]
  • ห้ามรับประทานยานี้ควบคู่กับน้ำชาหรือชาร้อน เนื่องจากจะลบฤทธิ์กัน[4],[8]

ประโยชน์ของเล็บมือนาง

  • ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ นิยมรับประทานในอินโดนีเซีย ใช้ได้ทั้งดิบและสุกด้วยการต้ม นึ่ง ลวก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก โดยคุณค่าทางโภชนาการของใบเล็บมือนาง ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 76 แคลอรี่, ความชื้น 76.4%, โปรตีน 4.8 กรัม, ไขมัน 0 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม, ใยอาหาร 2 กรัม, วิตามินเอ 11,180 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินซี 70 มิลลิกรัม, แคลเซียม 104 มิลลิกรัม, และฟอสฟอรัส 97 มิลลิกรัม[7]
  • สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับซุ้ม ปลูกเป็นซุ้มตามประตู ตามรั้ว หรือขึ้นร้านเป็นหลังคาที่นั่งผักผ่อน หรือปลูกตามริมถนน หรือริมทางเดิน เป็นไม้โตเร็ว ปลูกง่าย มีดอกสวยงาม ให้กลิ่นหอมเย็น (โดยเฉพาะในตอนค่ำ) หรือจะนำมาปลูกริมทะเลก็ได้ เพราะทนน้ำท่วมขัง ทนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี[6],
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เล็บมือนาง”.  หน้า 701-703.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เล็บมือนาง (Lep Mue Nang)”.  หน้า 271.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เล็บมือนาง Rangoon Creeper”.  หน้า 175.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เล็บมือนาง”.  หน้า 502.
  5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เล็บมือนาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [31 พ.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เล็บมือนาง”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [31 พ.ค. 2014].
  7. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “เล็บมือนาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [31 พ.ค. 2014].
  8. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  “ไซ้กุงจื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th.  [31 พ.ค. 2014].
  9. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “เล็บมือนาง”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [31 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by virtual_herbarium, Hai Le, cpmkutty, Richard Price Elliott, seedmoney1, Joaquín Ramírez López), davesgarden.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/