สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
เถาวัลย์เปรียง
เถาวัลย์เปรียง ชื่อสามัญ Jewel vine[1],[3],[6]
เถาวัลย์เปรียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris scandens (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3],[6]
สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือตาปลา เครือไหล (เชียงใหม่), เครือตับปลา (เลย), เถาตาปลา เครือเขาหนัง ย่านเหมาะ (นครราชสีมา), พานไสน (ชุมพร), เครือตาป่า เครือตับปลา เครือเขาหนัง เครือตาปลาโคก (หากเกิดบนบก) เครือตาปลาน้ำ (หากเกิดในที่ลุ่ม) (ภาคอีสาน), เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง), ย่านเหมาะ ย่านเมราะ (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[4],[5],[6],[11]
ลักษณะของเถาวัลย์เปรียง
- ต้นเถาวัลย์เปรียง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้คล้ายกับเถาต้นแดง (เนื้อไม้มีรสเฝื่อนและเอียน) ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการแยกไหลใต้ดิน ชอบอากาศเย็นแต่แสงแดดจัด ทนความแห้งแล้งได้ดี หากปลูกในที่แล้งจะออกดอกดก แต่จะมีขนาดเล็กกว่าปลูกในที่ชุ่มชื้น พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นเองตามชายป่าและที่โล่งทั่วไป เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทยและใช้กันทุกจังหวัด[1],[2],[4],[5],[6]
- ใบเถาวัลย์เปรียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 4-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ[1],[2]
- ดอกเถาวัลย์เปรียง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อยลง ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่ว กลีบดอกมี 4 กลีบและมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง[1],[4]
- ผลเถาวัลย์เปรียง ออกผลเป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด[1]
สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง
- เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายกระษัย แก้กระษัย (เถา)[1],[2],[4],[5]
- รากมีรสเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก)[1],[2],[4] ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง[12]
- ตำรับยาไทยใช้รากเป็นยารักษาอาการไข้ (ราก)[4]
- ช่วยแก้หวัด แก้ไอ (เถา)[3],[4],[5]
- เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเสมหะลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะพิการโดยไม่ทำให้ถ่ายอุจจาระ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคบิด โรคหวัด โรคไอ และใช้ได้ดีในเด็ก (เถา)[1],[2],[4],[11]
- ช่วยแก้บิด (เถา)[3],[4],[5]
- เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ส่วนรากมีรสเฝื่อนเอียนมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เถา, ราก)[1],[2],[3],[4],[14] และยังมีข้อมูลระบุว่าการใช้สมุนไพรชนิดนี้จะทำให้ปัสสาวะได้บ่อยกว่าปกติ จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตด้วย[14]
- เถาใช้ดองกับเหล้าเป็นยาขับระดูของสตรี (เถา)[8],[12]
- คนโบราณจะนิยมใช้เถาของเถาวัลย์เปรียงเพื่อเป็นยารักษาอาการตกขาวของสตรี (อาการตกขาวชนิดที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน ไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว) (เถา)[14]
- เถามีสรรพคุณในการบีบมดลูก (เถา)[8]
- ช่วยขับโลหิตเสียของสตรี ด้วยการใช้เถาวัลย์เปรียงทั้งห้าแบบสด ๆ นำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ (ทั้งห้า)[6]
- ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ ด้วยการใช้เถาสดนำมาทุบให้ยุ่ย แล้ววางทาบลงบนหน้าท้อง แล้วนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงไปบนเถาวัลย์เปรียง จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น (เถา)[6]
- บางตำรากล่าวว่าเถามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย (เถา)[5]
- เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเส้น ทำให้เส้นเอ็นอ่อนและหย่อนดี ช่วยรักษาเส้นเอ็นขอด เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวด ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ข้ออักเสบ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือจะใช้เถานำมาหั่นตากแห้ง คั่วชงน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา (เถา)[1],[2],[3],[4],[5],[10]
- มีการใช้เถาเพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก โดยการนำเถามาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหัวครำ แล้วใช้เป็นยาทานวดบริเวณที่เป็นทุกวันจนหาย (เถา)[8]
วิธีใช้สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง
- ยาแคปซูลที่ได้จากผลของเถาวัลย์เปรียง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยให้รับประทานหลังอาหารทันทีครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง[13]
- ยาแคปซูลที่สกัดจากเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% ของเอทิลแอลกอฮอล์ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างและแก้อาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม โดยให้รับประทานหลังอาหารทันทีครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง[13]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเถาวัลย์เปรียง
- องค์ประกอบทางเคมีที่พบในเถาและรากเถาวัลย์เปรียง ได้แก่ chandalone, etunaagarone, nalanin, lonchocarpenin, osajin, robustic acid, scandenin, scandione, scandenone, scandinone, waragalone, wighteone[5],[11]
- สารสกัดด้วยน้ำช่วยลดการหลั่ง myeloperoxidase (88 %) ของหนู (rat peritoneal leukocytes) ที่ถูกกระตุ้นด้วย calcium ionophore โดยมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยการยับยั้งการสังเคราะห์สารอิโคซานอยด์ (Eicosanoid)[12]
- สาร genistein และสาร scandenin ช่วยลดการหลั่ง elastasemyeloperoxidase ของหนู (rat peritoneal leukocytes) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.22 และ 0.14 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ[12]
- สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วย 50% เอทานอล 500 ไมโครกรัม/มล. ช่วยยับยั้งเอนไซม์ lipoxygenase โดยลดการเกิด leukotriene B4 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ[12]
- มีงานวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 70 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ในขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่ 7 โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 ของการรักษา แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบว่ามีผลข้างเคียงหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีแต่อย่างใด[7],[12]
- สารสกัดจากเถาของเถาวัลย์เปรียงมีสารในกลุ่มไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และสารไอโซฟลาโวน ไกลโคไซด์ (Isoflavone glycoside) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะอาการอักเสบตามข้อ โดยมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดหลังส่วนล่าง สามารถนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันประเภทสเตียรอยด์ได้เป็นอย่างดี[10]
- สารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบเมื่อให้สารสกัดในขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมกับหนูขาวทางช่องท้อง โดยพบว่าสามารถช่วยลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวหลังได้รับสารคาราจีแนน (Carrageenan-induced hindpaw edema) แต่จะไม่มีผลเมื่อให้สารสกัดนี้ทางปาก[12]
- สารสกัดด้วย 50% เอทานอล-น้ำมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ เมื่อให้สารสกัดในขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมกับหนูขาวทางปากเมื่อศึกษาด้วยวิธี Carrageenan-induced hindpaw edema[12]
- จากการศึกษาประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ในการใช้รักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 125 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน (Naproxen) ในขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์เช่นกัน ผลจากการศึกษาพบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้เป็นอย่างดี ทำให้การทำงานของเข่าดีขึ้น และมีความปลอดภัยไม่ต่างจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน นอกจากนี้อาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น มีอาการหิวบ่อย แสบท้อง จุกเสียดท้อง จะพบได้น้อยกว่าในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูลเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน[7],[10],[12]
- มีรายงานว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด มีผลลดความดันโลหิตและลดอัตราการเต้นของหัวใจในสัตว์ทดลอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจยังไม่ควรรับประทานจนกว่าจะมีรายงานความปลอดภัยอย่างแน่ชัด รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคความดันที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่ก็ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจจะมีผลไปยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยาก็เป็นได้ นอกจากจะมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชนิดจากแพทย์เจ้าของไข้[9]
- จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยเอทานอล 50% ที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ[5]
- จากการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% เอทานอลกับหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยการป้อนสารสกัดในขนาด 6, 60 และ 600 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัมต่อวัน หรือให้สารสกัดเทียบเท่ากับผงเถาวัลย์เปรียงแห้ง 0.03, 0.3 และ 3 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัมต่อวัน (คิดเป็น 100 เท่าของขนาดที่ใช้กับคนต่อวัน) พบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางจุลพยาธิของอวัยวะภายใน ค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม และไม่พบว่ามีความผิดปกติใด ๆ[5],[12]
- มีการทดสอบความปลอดภัยกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 59 ราย โดยให้อาสาสมัครกินแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ครั้งละ 1 แคปซูล แคปซูลละ 200 มิลลิกรัม) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ไม่พบว่าอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด[7] และจากผลการศึกษาพบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัม/วัน มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานติดต่อกันนาน 2 เดือน และยังสามารถเหนี่ยวนำให้มีการหลั่งของ IL-2, IL-4 และ IL-6 ที่อาจมีส่วนในการช่วยควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย[12]
- จากการศึกษาประสิทธิภาพในการเพิ่มภูมิต้านทานของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 47 ราย โดยให้รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% เอทานอล ครั้งละ 1 แคปซูล (ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีบางค่ามีการเปลี่ยนแปลงแต่อยู่ในช่วงของค่าปกติ สรุปได้ว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวันมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน และอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย[12]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[13]
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจยังไม่ควรรับประทานจนกว่าจะมีรายงานความปลอดภัยอย่างแน่ชัด รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคความดันที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่ก็ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจจะมีผลไปยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยาก็เป็นได้ นอกจากจะมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เจ้าของไข้[9]
- เถามีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน[3],[5]
- ควรระมัดระวังการใช้ในสมุนไพรชนิดนี้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) และการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร[9],[13]
- อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาผงจากเถาวัลย์เปรียง คือ คอแห้ง ใจสั่น ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย[9],[13] ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นจากการแพ้[14]
- อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้สารสกัดจากเถาของเถาวัลย์เปรียงที่สกัดด้วย 50% เอทิลแอลกอฮอล์ คือ มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอุจจาระเหลว[13]
ประโยชน์ของเถาวัลย์เปรียง
- ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของต้นเถาวัลย์เปรียงสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้ โดยมีรสมัน[11]
- รากมีรสเฝื่อนเบา มีสารจำพวก Flavonol ที่มีชื่อว่า สคาเดอนิน (Scadeninm) และนันลานิน (Nallanin) ใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ แต่ไม่มีคุณสมบัติในการใช้เป็นยาฆ่าแมลง[1],[4],[6] แต่บ้างก็ว่าใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้[3]
- เถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาอบสมุนไพรหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง[5]
- สมุนไพรเถาวัลย์เปรียงสามารถนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบัน "ไดโคลฟีแนค" (Diclofenac) ในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง และใช้แทนยาแผนปัจจุบัน "นาโพรเซน" (Naproxen) ในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบันอีกด้วย[7],[10],[12]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เถาวัลย์เปรียง (Thao Wan Priang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 139.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เถาวัลย์เปรียง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 119.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เถาวัลย์เปรียง”. หน้า 101.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เถาวัลย์เปรียง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 349-350.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 มี.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เถาวัลย์เปรียง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [17 มี.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 370 คอลัมน์: เก็บข่าวมาฝาก. “เถาวัลย์เปรียง รักษาอาการปวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [18 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th/~culturedb/. [18 มี.ค. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [15 มี.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรแก้ปวดข้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [18 มี.ค. 2014].
- นิตยสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 534 เดือนกันยายน 2555 หน้าที่ 66. “เถาวัลย์เปรียง...สมุนไพรแก้เส้นเอ็นขอด”. อ้างอิงใน: หนังสือเภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์).
- วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2544. “เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย การอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อเข่าเสื่อม”. (ภก.ดร.สัญญา หกพุดซา).
- NLEM บัญชียาหลักแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “ยาเถาวัลย์เปรียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/. [18 มี.ค. 2014].
- แคปซูลเถาวัลย์เปรียง อภัยภูเบศร.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke), www.pantip.com (by Orange Jasmin), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
https://medthai.com/