กระดาดลาย

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


กระดาด

กระดาด ชื่อสามัญ Elephant ear, Giant taro, Ape, Ear elephant, Giant alocasia, Pai

กระดาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia macrorrhizos (L.) G.Don[1] จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1],[3],[4]

สมุนไพรกระดาด กระดาดลาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดาดดำ (กาญจนบุรี), กระดาดแดง (กรุงเทพฯ), บึมบื้อ (เชียงใหม่), บอนกาวี เอาะลาย (ยะลา), โหรา (สงลา), คือ โทป๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เผือกกะลา มันโทป้าด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), กลาดีบูเก๊าะ (มลายู-ยะลา) เป็นต้น[1] (ส่วนข้อมูลอื่นระบุว่ามีชื่อว่า กระดาดเขียวกระดาดขาวบอนเขียว[3],[4])

ลักษณะของต้นกระดาด

  • ต้นกระดาด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง และมีความสูงได้มากกว่า 1 เมตรจนถึง 2 เมตร ลำต้นสั้นและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล มักขึ้นในที่ที่มีอากาศชื้น แสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2],[3]

  • ใบกระดาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากหัวใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเว้าลึก ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวและเป็นมันลื่น ส่วนท้องใบเรียบ มีเส้นแขนงของใบอยู่ข้างละประมาณ 5-7 เส้น ส่วนก้านใบใหญ่และเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.2-1.5 เมตร[1],[2]

  • ดอกกระดาด ออกดอกเป็นช่อ ช่อมีลักษณะเป็นแท่งยาวปลายแหลม (ลักษณะคล้ายกับดอกบอน) ออกตรงกลางต้น มีความยาวประมาณ 11-23 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกเล็ก ยาวประมาณ 25-50 เซนติเมตร ดอกมีกาบสีเหลืองอมสีเขียวหุ้มอยู่ ส่วนโคนของกาบโอบรอบโคนของช่อ ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกเพศผู้อยู่ที่บริเวณส่วนบน มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย และระหว่างดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคอดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายเป็นส่วนที่ไม่มีดอก จะยาวประมาณ 6.7-13 เซนติเมตร ปลายมน ดอกเพศเมียจะมีรังไข่ 1 ช่อง และมีออวุลอยู่ 3-5 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมตัด มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยดอกเพศผู้จะสั้นกว่าและกว้างกว่าดอกเพศเมีย ค่อนข้างแบนทางด้านข้าง[1],[2]

  • ผลกระดาด ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมและมีขนาดเล็ก (บ้างว่าเป็นรูปไข่กลีบ) โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร เนื้อในผลนุ่มสีแดงและมีเมล็ดแข็งอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและเป็นสีดำ[1],[2],[4]

สรรพคุณของกระดาด

  1. น้ำจากก้านใบมีรสเย็น ใช้กินแก้อาการไอ (น้ำจากก้านใบ)[1]
  2. ต้น ราก เหง้าใช้เป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ โดยนำมาต้มกินเป็นยา (ราก, ต้น)[1],[2],[4]
  1. ใช้เป็นยาถ่ายชนิดอุจจาระเป็นพรรดึก (รากหรือเหง้า)[2]
  2. ยาต้มจากใบใช้กินแก้อาการท้องผูกชนิดพรรดึก (ใบ)[2]
  3. ไหลใช้กินเป็นยาขับพยาธิ (ไหล)[2]
  4. รากหรือเหง้ามีรสเย็นและจืด ใช้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[4]
  5. ใบใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยห้ามเลือด (ใบ)[2]
  6. หัวมีรสเมาเย็น นำมาโขลกใช้พอกรักษาแผลที่เป็นหนอง (หัว)[1]
  7. ใบมีรสเย็น ช่วยแก้อาการอักเสบที่ข้อทำให้บวมแดง (ใบ)[1]
  8. รากใช้ทาแก้พิษของแมงป่อง (ราก)[1]

พิษของต้นกระดาด

  • ต้นกระดาดจะมีสารจำพวกเรซินและ Protoanemonine ซึ่งเป็นพิษ และยังมีแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) อีกมาก ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบวมแดง[2]

ประโยชน์ของกระดาด

  • นอกจากจะใช้ประโยชน์ทางด้านยาแล้ว ยังนิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับในกระถางได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยดูดซับความชื้นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นพืชที่ทำให้เกิดแหล่งน้ำ เช่น น้ำตก อีกด้วย[2],[3]
  • เหง้าต้มให้สุกสามารถใช้รับประทานได้ หรือจะใช้สำหรับใส่แกงก็ได้เช่นกัน[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระดาด (Kra Dad)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 23.
  2. หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  “กระดาด”.
  3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์.  “กระดาดเขียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระดาด”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, Huru Lin, Olenka Ivanov, J. C. Merriman, Jellyfish57, Ahmad Fuad Morad, Sidhean)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/