สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
หอมแดง
หอมแดง ชื่อสามัญ Shallot
หอมแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium ascalonicum L. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ALLIOIDEAE (ALLIACEAE)
สมุนไพรหอมแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักบั่ว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หอมหัวขาว หอมบัว หอมปั่ว (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หอมแกง หอมไทย หอมเล็ก หอมหัว (ภาคกลาง), หอมแกง (ภาคใต้) เป็นต้น
หอมแดง จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยมีการปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ และหอมแดงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหอมแดงคุณภาพดีก็ได้แก่หอมแดงจากจังหวัดศรีสะเกษ
สรรพคุณของหอมแดง
- ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
- หอมแดงช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล,ใบ)
- ร่างกายซูบผอม แก้ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมนำมาต้มน้ำดื่ม
- มีส่วนช่วยเสริมสร้างความจำ ทำให้ความจำดีขึ้น
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยเจริญธาตุไฟ
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย เป็นลม
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
- ช่วยกำจัดไขมันเลว (LDL) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคหัวใจวายและอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังรักษาระดับไขมันชนิดดี (HDL) ได้อีกด้วย
- ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดซึ่งเป็นสาเหตุมาจากโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยยับยั้งการเกิดโรคเส้นเลือดอุดตัน
- หอมแดงแก้หวัด คัดจมูกได้ (ผล,ใบ)
- ช่วยแก้ไข้สันนิบาต
- แก้ไข้อันบังเกิดแก่จักษุและทรวง
- แก้โรคตา ขับเสมหะ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้โรคในช่องปาก
- น้ำหัวหอมใช้หยอดหูแก้อาการปวดหูได้
- ช่วยแก้กำเดา (ผล, ใบ)
- ช่วยทำให้อาเจียน
- หอมแดงมีสรรพคุณช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมนำมาต้มน้ำดื่ม (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
- หอมแดงมีประโยชน์ใช้เป็นยาถ่าย
- ช่วยในการย่อยอาหาร
- ช่วยขับลมในลำไส้
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยแก้ลมพรรดึก
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
- ช่วยแก้อาการอักเสบต่าง ๆ
- ช่วยรักษาแผล โดยการนำหอมแดงมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือดแล้วนำมาพอกบริเวณแผล
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ผล, ใบ)
- หัวหอมแดงมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคัน ด้วยการใช้หัวหอมนำมาบดผสมเหล้าเล็กน้อย นำไปพอกบริเวณที่คัน
- ช่วยแก้พิษแมงมุมกัด แมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้หอมแดงทุบให้บุบผสมกับยาหม่อง แล้วนำมาทาบริเวณที่โดนกัดและกินด้วย โดยทำทุก ๆ 5 นาทีประมาณ 3-4 ครั้งอาการจะดีขึ้น
- กินแก้เนื้อสัตว์เป็นพิษด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมนำมาต้มน้ำดื่ม (เมล็ด)
- ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ
- ช่วยแก้อาการเมาค้างจากเหล้า
- แก้อาการสะอึก
- หอมแดงรักษาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ ด้วยการนำหอมแดงมาฝานเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
- หอมแดงแก้ผมร่วง ช่วยบำรุงเส้นผม
- ในบ้านเรานิยมนำหอมแดงมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงเผ็ด น้ำพริกต่าง ๆ ซุปหางวัว ผสมใส่ไข่เจียว เป็นส่วนประกอบของหลน หรือฝานเป็นแว่น ๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยง ปลาเค็ม และยังใช้เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน อย่างเช่น ไข่ลูกเขย ขนมหม้อแกงถั่ว ข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง เป็นต้น
- มีส่วนช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
คุณค่าทางโภชนาการของหอมแดงดิบต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 72 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 16.8 กรัม
- น้ำตาล 7.87 กรัม
- เส้นใย 3.2 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 2.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 5 0.29 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 6 0.345 มิลลิกรัม 27%
- วิตามินบี 9 34 ไมโครกรัม 9%
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุแคลเซียม 37 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมงกานีส 0.292 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุโพแทสเซียม 334 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุสังกะสี 0.4 มิลลิกรัม 4%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
หัวหอมแดง มีสารเคมีและสารอาหารมากมาย เช่น ไดอัลลิน ไตรซัลไฟต์ (เช่นเดียวกับที่ได้ในกระเทียม) และยังมีฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ เพคติน ลูโคคินิน ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งแบคทีเรีย ลดไขมันในเส้นเลือด และในหัวหอมยังมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารกำมะถันและแร่ธาตุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัส
งานวิจัยหอมแดง พบว่าหอมแดงมีบทบาทเกี่ยวกับการช่วยเผาผลาญอาหารในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และการรับประทานหอมแดงเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดมาเลี้ยงหัวใจอุดตันได้ !
การรับประทานหอมแดงจำนวนมากเป็นประจำ อาจจะทำให้ผมหงอก มีกลิ่นตัว ตาฝ้ามัว ฟันเสีย อาจทำให้มีอาการหลงลืมง่าย และประสาทเสียได้ และน้ำหอมแดงมีสารกำมะถันซึ่งทำให้แสบตา แสบจมูก และผิวหนังมีอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อนได้ จึงไม่ควรทาใกล้บริเวณที่บอบบาง
หล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
https://medthai.com/