ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
ชะพลูชะพลู ชื่อสามัญ Wildbetal leafbush ชะพลู ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE) | ||
สรรพคุณ:
ตำรายาไทยใช้ ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด ใบ รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม ช่วยเจริญอาหาร ทำให้เลือดลมซ่าน ขับเสมหะ แก้เบาหวาน ราก รสร้อน ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ราก ผล และใบ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดกระเพาะเนื่องจากความเย็นพร่องในธาตุ แก้ธาตุน้ำพิการ แก้ไอเย็น ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้ปวดฟัน ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ฟกช้ำ ใช้ภายนอก รักษาขาเน่าขาเปื่อย ผล รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะที่คอ ทำให้เสมหะแห้ง ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ รากและใบ กินสด ช่วยขับลม
องค์ประกอบทางเคมี:
การแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดใบช้าพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ได้สารประกอบ hydrocinnamic acid (1) และ β- sitosterol (2) โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานที่ทราบโครงสร้างแล้ว (น้อย และก้าน, 2526)
สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู ประกอบด้วย amides 8 ชนิด ได้แก่ pellitorine (1), guineensine (2), brachystamide B (3), sarmentine (4), brachyamide B (5), 1-piperettyl pyrrolidine (6), 3’,4’,5’-trimethoxycinnamoyl pyrrolidine (7) และ sarmentosine (8) สาร lignans 2 ชนิด ได้แก่ (+)-asarinin (9) และ sesamin (10)และองค์ประกอบอื่น 4 ชนิด ได้แก่ 1-(3,4-methylenedioxyphenyl)-1E-tetradecene (11), methyl piperate (12) ส่วนผสมของ β-sitosterol (13) และ stigmasterol (14) (Rukachaisirikul, et al., 2004)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ขับลม คลายกล้ามเนื้อ
จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช้าพลู ต่อลําไส้ส่วนอิเลียมของ หนูตะเภา และกล้ามเนื้อกระบังลมของหนูขาวที่ถูกแยกออกมาจากสัตว์ทดลอง โดยใช้สารที่ได้จากการสกัดช้าพลูด้วยเมทานอล พบว่าสารสกัดช้าพลูมีผลทําให้ความแรงและความถี่ในการหดตัวของลําไส้เพิ่มขึ้น โดยที่การตอบสนองของลําไส้จะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดของสารสกัดที่ใช้ในการทดลอง (0.3, 1.0 และ 3.0 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) และถูกต้านฤทธิ์ได้เพียงเล็กน้อยด้วยอะโทรปีนในขนาด 2.2x10-6 โมลต่อลิตร ส่วนผสมของสารสกัดช้าพลูต่อกล้ามเนื้อกระบังลมจะทําให้เกิดการตอบสนองเป็น 2 ระยะ โดยเริ่มด้วยการกระตุ้นแล้วตามด้วยการกด การหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมในระยะต่อมา พวกโคลิเนอร์จิก และมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อกระบังลมคล้ายยากลุ่ม depolarized larized blocker ผลการทดลองนี้สนับสนุนข้อมูลการใช้ช้าพลูเป็นยาขับลมและยาคลายกล้ามเนื้อ (เมธี และคณะ, 2531)
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum (K1, multidrug resistant strain) ในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู ผลการทดสอบพบว่าสารกลุ่ม amide ได้แก่ sarmentine , 1-piperettyl pyrrolidine มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย P. falciparum โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18.9 และ 6.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (Rukachaisirikul, et al., 2004)
ฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค ด้วยวิธี Microplate Alamar Blue Assay (MABA) ผลการทดสอบสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู พบว่าสารกลุ่ม amide ได้แก่ sarmentine, 1-piperettyl pyrrolidine, ยามาตรฐาน isoniazid และ kanamycin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค โดยมีค่า MIC เท่ากับ 100, 50, 0.05 และ 2.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่ pellitorine, guineensine, brachyamide B, sarmentosine และ 1-(3,4-methylenedioxyphenyl)-1E-tetradecene มีฤทธิ์รักษาวัณโรคอย่างเดียว โดยมีค่า MIC เท่ากับ 25 , 50 , 50 , 200 และ 25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ (Rukachaisirikul, et al., 2004)
การศึกษาทางพิษวิทยา: -
ข้อควรระวัง:
ใบช้าพลูสด มีผลึกแคลเซียมออกซาเลตสูง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรือไม่ควรกินเป็นประจำ จะทำให้เวียนศีรษะ และอาจทำให้เกิดนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะได้
เอกสารอ้างอิง:
1. น้อย เนียมสา, ก้าน จันทร์พรหมมา. การศึกษาสารเคมีจากชะพลู Piper sarmentosum Roxb. วารสารสงขลานครินทร์. 2526;5(2):151-152.
2. เมธี สรรพานิช , มาลินี พงษ์มารุทัย, วิบูลย์ ฤทธิทิศ. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชะพลู. วารสารสงขลานครินทร์. 2531;10 (3):305-312.
3. RukachaisirikulT, Siriwattanakit P, Sukcharoenphol K, Wongvein C, Ruttanaweang P, Wongwattanavuch P,et al. Chemical constituents and bioactivity of Piper sarmentosum. J Ethnopharmacology.2004;93:173-176.
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com
ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com
ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล : www.thai-remedy.com
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : www.thai-remedy.com
ชะพลู มักมีการจำสับสนกับพลูทั้งที่เป็นคนละชนิดกัน ซึ่งใบจะรสไม่จัดเท่ากับพลูและยังมีขนาดเล็กกว่า สำหรับสรรพคุณของชะพลูที่สำคัญนั้นก็ได้แก่ ช่วยบำรุงธาตุ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยในการขับเสมหะ เป็นต้น และประโยชน์ของชะพลูในด้านของสุขภาพนั้นก็คือ มีวิตามินเอและธาตุแคลเซียมในปริมาณสูงเป็นพิเศษ และยังมีธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ เส้นใยอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
ใบชะพลู หากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นคุณจึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลง และถูกขับออกทางปัสสาวะ หรือจะเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ๆ เพื่อป้องกันโรคนิ่วก็ทำได้เหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดคุณควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
https://medthai.com/