สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
รักใหญ่
รักใหญ่ ชื่อสามัญ Red zebra wood, Vanish tree[1], Burmese lacquer tree, Burmese vanish wood, Black lacquer tree, Thai vanish wood[4]
รักใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gluta usitata (Wall.) Ding Hou (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melanorrhoea usitata Wall.) จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1]
รักใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รักเทศ มะเรียะ (เชียงใหม่), น้ำเกลี้ยง (สุรินทร์), ฮักหลวง (ภาคเหนือ), รัก (ภาคกลาง), รัก ซู้ สู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ฮัก, รักหลวง เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของรักใหญ่
- ต้นรักใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา จีน และไทย[4] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีชมพูอ่อน กิ่งอ่อนและยอดปกคลุมไปด้วยขนยาวสีขาว ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยงหรือมีขนสั้น ๆ ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ พบขึ้นกระจายพันธุ์ทั่วไปตามป่าผลัดเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้าโล่ง เขาหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,000 เมตร[1],[2] ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยภูมิ กำแงเพชร และหนองบัวลำภู[3]
- ใบรักใหญ่ ใบคล้ายใบมะม่วงหิมพานต์ มักมีแมลงมาไข่ไว้ตามใบ ทำให้เกิดตุ่มกลม ๆ ตามแผ่นใบ ใบรักใหญ่เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบแหลมหรือกลม โคนใบมนหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม มีไขปกคลุม ตามผิวใบมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน โดยเฉพาะใบอ่อนจะมีขนปกคลุมอยู่หนาแน่น หลังใบมีขนสีน้ำตาลขึ้นประปราย ส่วนท้องใบมีขนหนาแน่นแต่จะหลุดไปเมื่อใบแก่เต็มที่ ใบมีเส้นแขนงข้างละ 15-25 เส้น มีลักษณะนูนชัดเจนทางด้านบน เป็นแบบร่างแหชัดเจนทางด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร[2]
- ดอกรักใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือใกล้กับปลายกิ่งและซอกใบ มักทิ้งใบก่อนการออกดอก โดยดอกจะเริ่มบานจากสีขาว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงสด โดยจะออกดอกเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นตามซอกใบช่วงบน ช่อดอกมีความยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นและนุ่ม สีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ดอกย่อยมีจำนวนเยอะมาก ดอกตูมจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนอยู่ประปราย ที่ปลายมีขนเป็นกระจุก กลีบดอกเป็นสีขาวมีแถบสีเหลืองแกมเขียวตรงกลาง กลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ แผ่กว้าง ปลายกลีบแคบแหลม หลังกลีบมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ในดอกที่แก่แล้วกลีบเลี้ยงจะมีรูปร่างคล้ายหมวก มีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1.8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-7.5 มิลลิเมตร สีแดง มี 5 กลีบ ผิวด้านในมีขนสั้นและนุ่ม กลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลมหรือมน มีขนหนาแน่น กลีบดอกจะขยายขนาดขึ้นและกลายเป็นปีกเมื่อติดผล จานฐานดอกเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 30 อัน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รังไข่มีลักษณะกลม ส่วนก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดด้านข้างของรังไข่[2]
- ผลรักใหญ่ ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผนังชั้นในแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีส่วนของกลีบดอกที่ขยายเป็นปีกที่โคนก้านผลสีแดง มี 5 ปีก เป็นรูปขอบขนาน ระหว่างโคนปีกกับผลมีก้านเชื่อมกัน ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร และปีกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีเส้นปีกชัดเจน[2]
สรรพคุณของรักใหญ่
- เปลือกต้นใช้เข้ายาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้มะเร็ง (ยาง)[3]
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปากคอเปื่อย (เมล็ด)[1],[2]
- เมล็ดและยางมีสรรพคุณช่วยแก้ปวดฟัน และยางยังใช้ผสมกับน้ำผึ้ง เป็นยารักษาโรคที่ปาก เอาสำลีชุลอุดฟันที่เป็นรูช่วยแก้ปวดได้ (ยาง,เมล็ด)[1],[2]
- ช่วยแก้โรคในฟัน (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้ไข้เรื้อรัง (ต้น)[3]
- เปลือกรากมีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณช่วยแก้โรคไอ (เปลือกราก)[1],[2],[4]
- เปลือกมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ ทำให้อาเจียน (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นหรือรากรักใหญ่ ผสมกับลำต้นหรือรากมะค่าโมง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด (ลำต้นหรือราก)[2]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด)[1],[2]
- น้ำยางมีรสขมเอียน มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (ยาง)[1],[2]
- ช่วยแก้โรคท้องมาน (เปลือกราก)[1],[2],[4]
- ยางใช้ทำเป็นยาแก้พยาธิ (ยาง)[1],[2] เปลือกรากใช้แก้พยาธิลำไส้ (เปลือกราก)[2],[4] บ้างว่ารากเป็นยาขับพยาธิ ใช้รากเป็นยาพอกแก้พยาธิลำไส้ (ราก)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดไส้เลื่อน แก้ไส้เลื่อนในกระเพาะปัสสาวะ (เมล็ด)[2],[3]
- ช่วยแก้ริดสีดวง (เมล็ด)[1],[2] แก้ริดสีดวงทวาร (ยาง)[2]
- เปลือกต้นมีรสเมา ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ยางใช้ทำเป็นยารักษาโรคตับ (ยาง)[1],[2] เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคตับ (เปลือกราก)[2]
- ใบและรากใช้เป็นยาพอกแผล (ใบและราก)[4]
- ช่วยแก้คุดทะราด (เมล็ด)[1],[2]
- เปลือกรากใช้รักษาโรคผิวหนัง (เปลือกราก)[1],[2],[4] แก่นใช้ต้มกับน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน (แก่น)[2] ส่วนยางใช้ผสมกับยางสลัดไดเป็นยารักษาโรคผิวหนัง ขี้กลาก และกัดเนื้อสด (ยาง)[1],[2]
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อน (เปลือกต้น)[1],[2] ส่วนยางก็นำมาทำเป็นยารักษาโรคเรื้อนได้เช่นกัน (ยาง)[1],[2]
- เปลือกต้นหรือใบรักใหญ่ ใช้ผสมกับรากสะแอะหรือรากหนวดหม่อน, แก่นฝาง, เปลือกต้นหรือใบแจง, เปลือกต้นกันแสง, และต้นสังวาลย์พระอินทร์ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย มีแผลเปื่อยตามตัวของผู้ป่วยเอดส์ (เปลือกต้นหรือใบ)[2]
- ช่วยแก้อักเสบ (เมล็ด)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดข้อเรื้อรัง (เปลือกต้น)[1],[2],[4]
- ใบช่วยแก้ส้นเท้าแตก (ใบ)[3]
ประโยชน์ของรักใหญ่
- น้ำยางสามารถนำมาใช้ทำน้ำมันเคลือบเงาได้ โดยน้ำยางใสเมื่อถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีดำและเป็นมัน การใช้ยางรักจากต้นรักใหญ่ทางภาคเหนือรู้จักกันมาช้านานแล้ว โดยนำมาใช้เป็นวัสดุสำคัญในงานศิลปกรรมเพื่อผลิตเครื่องรักประเภทต่าง ๆ (การลงพื้นหรือทาสิ่งต่าง ๆ เรียกว่า "ลงรัก") ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เช่น การนำใช้ทาไม้เครื่องเขินเพื่อลงลวดลาย, ทากระดาษกันน้ำซึม, ทาไม้รองพื้นสำหรับปิดทอง ที่เรียกว่า "ลงรัก ปิดทอง", งานประดับมุก, งานเขียนลายรดน้ำ ฯลฯ[2],[3]
- นอกจากนี้ยางไม้ยังใช้ทำงานฝีมือที่เรียกว่า เครื่องเขินและทาผ้า หรือเครื่องจักสานกันน้ำซึมได้ด้วย[3]
- เนื้อไม้ของต้นรักใหญ่มีเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้ม มีริ้วสีแก่แทรก เป็นมันเลื่อม แต่เสี้ยนสน เนื้อไม้ค่อนข้างเหนียวละเอียด มีความแข็งแรงทดทาน ไสกบตบแต่งยาก แต่ชักเงาได้ดี สามารถใช้ทำบัวประกบฝาเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องกลึง เครื่องมือทางการเกษตร เสา คาน ไม้อัด กระสวย รางปืน รางรถไฟ ฯลฯ[3]
พิษของรักใหญ่
- น้ำยางสดมีสารพิษ Phenol ซึ่งออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบและมีอาการคันมาก ทำให้เกิดอาการบวมแดง พองเป็นตุ่มน้ำใส และอาจลุกลามรุนแรงจนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังได้ สำหรับวิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทาด้วยครีมสเตียรอยด์วันละ 1-2 ครั้ง เช่น ครีม prednisolone 5% หรือ triamcinolone acetonide 0.025%-0.1% ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ปานกลางหรือรุนแรง จำเป็นต้องรับประทานเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า หรือทั้งเช้าและเย็น แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 6-12 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ก็อาจจะต้องรับประทานยานี้นานถึง 2 สัปดาห์ โดยให้ลดขนาดลงมาทุกวันจนกระทั่งหยุดยา[2],[5]
- ขนจากใบแก่เป็นพิษต่อผิวหนัง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคันทั่วตัว และอาจทำให้คันอยู่นานนับเดือน ผิวหนังอาจบวม ซึ่งชาวบ้านจะแก้โดยวิธีการใช้เปลือกและใบสักมาต้มกับน้ำอาบ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รักใหญ่ (Rug Yai)”. หน้า 260.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “รักใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [27 พ.ค. 2014].
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “รักใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [28 พ.ค. 2014].
- สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง). “ความหลากชนิดของพรรณไม้ให้ยางรัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: oamc.ku.ac.th/knowledge/02-june/01.pdf. [28 พ.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รักหลวง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [28 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
https://medthai.com/