ลีลาวดี

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ลีลาวดี

ลีลาวดี หรือ ลั่นทม เป็นไม้ดอกชนิดยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง เม็กซิโก แคริบเบียน และอเมริกาใต้ ในบ้านเรามีความเชื่อมาแต่โบราณว่าไม่ควรปลูกต้นลั่นทมไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากมีชื่ออัปมงคล เพราะไปพ้องกับคำว่า "ระทม" ซึ่งแปลว่า ความทุกข์ใจ เศร้าโศกนั่นเอง แต่ได้มีการเปลี่ยนมาเรียกชื่อใหม่แทนซึ่งก็คือ "ลีลาวดี" โดยเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีความหมายว่า "ดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามและอ่อนช้อย" และในปัจจุบันนี้ต้นลีลาวดีได้รับความนิยมและปลูกกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม

ลีลาวดี มีชื่อสามัญว่า Plumeria, Frangipani, Temple tree (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumeria spp.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำปา, จงป่า (กาญจนบุรี), จำปาลาว (ภาคเหนือ), จำปาขาว (ภาคอีสาน), จำปาขอม (ภาคใต้), ไม้จีน (ยะลา), มอยอ (นราธิวาส), จำไป (เขมร) เป็นต้น โดยเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเพราะออกดอกตลอดปี เลี้ยงดูง่าย และสีของดอกลีลาวดีนั้นยังมีสีสันสดใส สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ขาว เหลืองอ่อน ชมพู แดง ฯลฯ ซึ่งบางดอกอาจจะมีมากกว่า 1 สีก็ได้ และดอกลั่นทมยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาวอีกด้วยครับ

ประวัติดอกลีลาวดี เดิมทีแล้วต้นลั่นทมเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากเขมร ซึ่งมีชื่อเดิมว่า "ต้นขอม" เล่ากันว่ามีการนำเข้ามาปลูกในไทย เมื่อครั้งไปตีนครธมจนได้รับชัยชนะ แล้วได้มีการนำต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาปลูก และเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า "ลั่นธม" โดยคำว่าลั่นนั้นแปลว่า ตีฆ้อง ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง ส่วนคำว่าธมนั้นมาจากคำว่า "นครธม" จึงเป็นที่มาของชื่อลั่นธม และเพี้ยนกลายมาเป็น "ลั่นทม" ในปัจจุบัน โดยมีผู้รู้ด้านภาษาไทยได้กล่าวถึงความหมายของลั่นทมไว้ โดยมีความหมายว่า "การละแล้วซึ่งความทุกข์ความโศกเศร้าและมีความสุข" เพราะคำว่า ลั่น นั้นมีหมายว่า แตกหัก ละทิ้ง ส่วนคำว่า ทม ก็หมายถึงความทุกข์โศก 

แต่เนื่องจากทุกส่วนของต้นลีลาวดีจะมียางสีขาวขุ่นซึ่งเป็นพิษ โดยสารที่เป็นพิษคือกรด Plumeric acid ถ้าหากสัมผัสยางจะทำให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ผิวหนังอักเสบบวมแดง และต้นลีลาวดีนี้กิ่งยังเปราะและหักง่ายอีกด้วย จึงไม่เหมาะที่จะปลูกไว้ในบ้านที่มีเด็กซุกซนอยู่เท่าไหร่นัก

ประโยชน์ดอกลีลาวดีสรรพคุณของดอกลีลาวดี

ประโยชน์ของต้นลีลาวดี

  1. ดอกลีลาวดีใช้ผสมกับพลู ทำเป็นยาแก้ไข้และไข้มาลาเรีย (ดอกลีลาวดี, เปลือกต้น)
  2. ช่วยรักษาไข้หวัด (ราก)
  3. ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ (เนื้อไม้)
  4. ช่วยถ่ายเสมหะและโลหิต (ยางและแก่น)
  5. ช่วยขับเหงื่อ แก้ร้อนใน (ราก)
  1. ช่วยรักษาโรคหืดหอบ ด้วยการใช้ใบลีลาวดีแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม (ใบแห้ง)
  2. ยางจากต้นลีลาวดีใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรทำเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (ยางจากต้น)
  3. มีการนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้า (ต้น)
  4. ใช้ปรุงเป็นยาถ่าย (เนื้อไม้, ยางจากต้น, เปลือกราก, เปลือกต้น)
  5. ช่วยขับลมในกระเพาะ (เปลือกราก)
  6. ใช้เปลือกต้นผสมกับน้ำมันมะพร้าว มันเนย และข้าว ทำเป็นยาแก้ท้องเดิน(เปลือกต้น)
  7. ใช้เปลือกต้นผสมกับน้ำมันมะพร้าว มันเนย และข้าว ทำเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)
  8. ฝักนำมาฝนเพื่อนำมาใช้ทาแก้ริดสีดวงทวารได้ (ฝัก)
  9. ช่วยขับระดู (เปลือกต้น)
  10. ช่วยในการขับพยาธิ (เนื้อไม้)
  11. ใช้เปลือกรากปรุงเป็นยารักษาโรคหนองใน (เปลือกราก)
  12. ช่วยรักษาโรคโกโนเรียหรือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) (เปลือกต้น)
  13. ช่วยรักษากามโรค (ยางและแก่น)
  14. ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ยากจากต้น,เปลือกราก)
  15. ใบสดใช้ชงกับน้ำร้อนรักษาหิด (ใบสด)
  16. ใบสดลีลาวดีลนไฟประคบร้อนช่วยแก้อาการปวดบวมได้ (ใบสด)
  17. ใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษทั้งปวง (ยางและแก่น)
  18. ยางจากต้นลีลาวดีใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรทำเป็นยาแก้คัน (ยางจากต้น)
  19. ดอกใช้ทำธูป (ดอก)
  20. กลิ่นของดอกลีลาวดีช่วยทำให้นอนหลับสบาย
  21. มีความเชื่อว่ากลิ่นของดอกลีลาวดีจะช่วยลดความรู้สึกทางเพศ เหมาะสำหรับนักบวชและผู้ฝึกตน ที่ไม่ต้องการให้กามารมณ์มากวนใจ
  22. ต้นลีลาวดีนิยมใช้ในการจัดสวนเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์เป็นอย่างมาก โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันก็คือ "พันธุ์ขาวพวง" หรือพันธุ์ดั้งเดิมนั่นเอง

แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/