กระดาด

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


กระดาด

กระดาด ชื่อสามัญ Elephant ear, Giant taro, Ape, Ear elephant, Giant alocasia, Pai

กระดาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia macrorrhizos (L.) G.Don[1] จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)

สมุนไพรกระดาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดาดดำ (กาญจนบุรี), กระดาดแดง (กรุงเทพฯ), บึมบื้อ (เชียงใหม่), บอนกาวี เอาะลาย (ยะลา), โหรา (สงลา), คือ โทป๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เผือกกะลา มันโทป้าด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), กลาดีบูเก๊าะ (มลายู-ยะลา) เป็นต้น[1] (ส่วนข้อมูลอื่นระบุว่ามีชื่อว่า กระดาดเขียวกระดาดขาวบอนเขียว[3],[4])

ลักษณะของต้นกระดาด

  • ต้นกระดาด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง และมีความสูงได้มากกว่า 1 เมตรจนถึง 2 เมตร ลำต้นสั้นและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล มักขึ้นในที่ที่มีอากาศชื้น แสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[2],[3]

  • ใบกระดาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากหัวใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเว้าลึก ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวและเป็นมันลื่น ส่วนท้องใบเรียบ มีเส้นแขนงของใบอยู่ข้างละประมาณ 5-7 เส้น ส่วนก้านใบใหญ่และเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.2-1.5 เมตร[1],[2]

  • ดอกกระดาด ออกดอกเป็นช่อ ช่อมีลักษณะเป็นแท่งยาวปลายแหลม (ลักษณะคล้ายกับดอกบอน) ออกตรงกลางต้น มีความยาวประมาณ 11-23 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกเล็ก ยาวประมาณ 25-50 เซนติเมตร ดอกมีกาบสีเหลืองอมสีเขียวหุ้มอยู่ ส่วนโคนของกาบโอบรอบโคนของช่อ ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกเพศผู้อยู่ที่บริเวณส่วนบน มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะมีจำนวนมากกว่าดอกเพศเมีย และระหว่างดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคอดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายเป็นส่วนที่ไม่มีดอก จะยาวประมาณ 6.7-13 เซนติเมตร ปลายมน ดอกเพศเมียจะมีรังไข่ 1 ช่อง และมีออวุลอยู่ 3-5 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมตัด มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยดอกเพศผู้จะสั้นกว่าและกว้างกว่าดอกเพศเมีย ค่อนข้างแบนทางด้านข้าง[1],[2]
  • ผลกระดาด ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมและมีขนาดเล็ก (บ้างว่าเป็นรูปไข่กลีบ) โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร เนื้อในผลนุ่มสีแดงและมีเมล็ดแข็งอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและเป็นสีดำ[1],[2],[4]

ผลกระดาด

สรรพคุณของกระดาด

  1. น้ำจากก้านใบมีรสเย็น ใช้กินแก้อาการไอ (น้ำจากก้านใบ)[1]
  2. ต้น ราก เหง้าใช้เป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ โดยนำมาต้มกินเป็นยา (ราก, ต้น)[1],[2],[4]
  1. ใช้เป็นยาถ่ายชนิดอุจจาระเป็นพรรดึก (รากหรือเหง้า)[2]
  2. ยาต้มจากใบใช้กินแก้อาการท้องผูกชนิดพรรดึก (ใบ)[2]
  3. ไหลใช้กินเป็นยาขับพยาธิ (ไหล)[2]
  4. รากหรือเหง้ามีรสเย็นและจืด ใช้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[1],[2],[4]
  5. ใบใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยห้ามเลือด (ใบ)[2]
  6. หัวมีรสเมาเย็น นำมาโขลกใช้พอกรักษาแผลที่เป็นหนอง (หัว)[1]
  7. ใบมีรสเย็น ช่วยแก้อาการอักเสบที่ข้อทำให้บวมแดง (ใบ)[1]
  8. รากใช้ทาแก้พิษของแมงป่อง (ราก)[1]

พิษของต้นกระดาด

  • ต้นกระดาดจะมีสารจำพวกเรซินและ Protoanemonine ซึ่งเป็นพิษ และยังมีแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) อีกมาก ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบวมแดง[2]

ประโยชน์ของกระดาด

  • นอกจากจะใช้ประโยชน์ทางด้านยาแล้ว ยังนิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับในกระถางได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยดูดซับความชื้นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นพืชที่ทำให้เกิดแหล่งน้ำ เช่น น้ำตก อีกด้วย[2],[3]
  • เหง้าต้มให้สุกสามารถใช้รับประทานได้ หรือจะใช้สำหรับใส่แกงก็ได้เช่นกัน[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระดาด (Kra Dad)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 23.
  2. หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  “กระดาด”.
  3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์.  “กระดาดเขียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระดาด”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, Huru Lin, Olenka Ivanov, J. C. Merriman, Jellyfish57, Ahmad Fuad Morad, Sidhean)

https://medthai.com/

เป็นพืชพิษที่มีน้ำยางใส และแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้าสัมผัสทำให้ผิวหนังอักเสบ และถ้า

รับประทานเข้าไปจะทำให้ปากและลิ้นพอง น้ำลายไหล ลิ้น เพดานปาก และหน้าบวมอย่างเห็นได้ชัด

บางครั้งอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

ตัวอย่างพืช ได้แก่ ใบ้สามสี (Aglaonema costatum), กระดาด (Alocasiaindica), กระดาดแดง

(A. indicavar.metallica), กระดาดดำ (A. macrorhiza), บอนสี (Caladium bicolor), สาวน้อยประ

แป้ง (Dieffenbachia sequine), พลูฉีก (Monstera deliciosa)

การรักษา

ในกรณีที่สัมผัสกับน้ำยางให้ล้างด้วยน้ำและสบู่แล้วทาด้วยคาลาไมด์ และรับประทานยาแก้แพ้

ควรประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ายางเข้าตาควรล้างตาทันทีด้วยน้ำยา

ล้างตา หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีตัวยาเป็นสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

กรณีเพียงแต่เคี้ยวไม่ได้กลืนพืชลงไป รักษาโดยการใช้น้ำชะล้างปากและคอ เพื่อบรรเทาอาการ

ปวดร้อนไหม้ที่ลิ้นและเยื่อบุช่องปาก รับประทานยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะทุกๆ 2 ชั่วโมง รับประทาน

ยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบอาการจะอยู่เพียง 2-3 วันก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ ได้แต่ถ้าผู้ป่วย

กลืนพืชพิษเข้าไปไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสเยื่อบุปากและคออีกครั้ง ควรส่ง

โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้อง และให้การรักษาตามอาการ

อ้างถึง รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์

ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย และสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์