สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
ว่านธรณีสาร ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus pulcher Wall. ex Müll.Arg.[1] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรว่านธรณีสาร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะขามป้อมดิน (เชียงใหม่), เสนียด (กรุงเทพมหานคร), กระทืบยอด (ชุมพร), ก้างปลาดิน ดอกใต้ใบ (นครศรีธรรมราช), ตรึงบาดาล (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง ครีบยอด (สุราษฎร์ธานี), คดทราย (สงขลา), รุรี (สตูล), ก้างปลา (นราธิวาส) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของว่านธรณีสาร
- ต้นว่านธรณีสาร จัดเป็นไม้พุ่งกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นแผ่กิ่งก้านบริเวณใกล้กับปลายยอด เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ลำต้นมีลักษณะกลมและมีรอยแผลใบตามลำต้น มีขนนุ่มตามกิ่งอ่อนและใบประดับ ส่วนอื่น ๆ ของต้นเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นกระจายอยู่ตามป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร[3]
- ใบว่านธรณีสาร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแน่นในระนาบเดียวกันบริเวณปลายยอด มีใบย่อยประมาณ 15-30 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานเบี้ยว หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ปลายสุดมีติ่งแหลมขนาดเล็ก ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.52.5 เซนติเมตร แผ่นใบแผ่และบาง แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน หลังใบสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมเขียว มีเส้นใบข้างประมาณ 6-8 คู่ ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.8-1.5 มิลลิเมตร ก้านมีสีแดงเล็กน้อย ส่วนหูใบมีสีน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปหอกแกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 3-4 x 1.5-2 มิลลิเมตร[3]
- ดอกว่านธรณีสาร ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีแดงเข้ม และเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ โคนสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ก้านชูสั้น เชื่อมติดกัน อับเรณูแตกตามยาว ก้านดอกบาง ยาวได้ประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ กลีบเลี้ยงมีสีแดงเข้ม ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขอบแหว่ง มีขนาดประมาณ 2-3 x 1-2 มิลลิเมตร มีต่อม ขานฐานดอกเป็นต่อม 4 อัน เป็นรูปเหลี่ยมหรือรูปไตแบนบาง มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกจะห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ กลีบดอกเพศเมียมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขอบแหว่ง มีขนาดประมาณ 3.5-4 x 1.5 มิลลิเมตร มีรังไข่เป็นรูปกึ่งกลม เกลี้ยง ส่วนปลายมีพู 6 พู ภายในรังไข่มีห้อง 3 ห้อง และมีก้านชู 3 อัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน[3]
- ผลว่านธรณีสาร ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อน ก้านผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลจะออกเรียงเป็นแนว ดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ โดยจะติดผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[3]
สรรพคุณของว่านธรณีสาร
- รากมีรสจืดเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ราก)[3] หรือจะใบนำมาตำให้แหลกผสมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้า ใช้พอกดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ใบ)[5] ส่วนมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้ไข้สูง (ใบ)[3]
- ใบแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้แทรกพิมเสนกวาดคอเด็ก เพื่อลดไข้ รักษาอาการตัวร้อน รักษาพิษตานทรางของเด็ก รักษาแผลในปาก และยังเป็นยาขับลมในลำไส้อีกด้วย (ใบ)[1],[2],[3],[4] หรือจะใช้ใบนำมาขยำเอาน้ำใช้ชโลมทาเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก (ใบ)[7]
- ช่วยแก้พิษตานซางเด็ก (ราก)[3]
- ต้นใช้ภายนอกเป็นยาล้างตา (ต้น)[3],[7]
- ใบว่านธรณีสารนำมาตำ ใช้พอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน และแก้โรคเหงือก (ใบ)[3],[7]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ราก)[3]
- ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ต้น)[1],[3],[7]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ใบ)[3]
- ต้นใช้ฝนทาท้องเด็ก ช่วยแก้ขัดเขา (ต้น)[6]
- ช่วยแก้นิ่วในไต (ใบ)[3]
- ต้นใช้เป็นยาทาท้องเด็ก ช่วยทำให้ไตทำงานตามปกติ และเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[7]
- ที่ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้แผล แก้ปวดแผลจากอาการไหม้ แก้บวมคัน (ใบ)[3]
- ต้นใช้เป็นยาทาผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ และแก้อาการคัน (ต้น)[7]
- ใบใช้ตำพอกแก้ผื่นคันตามร่างกาย (ใบ)[1],[2],[3]
- ใบใช้ภายนอกเป็นยาพอกฝี ดูดหนองรักษาแผลได้ดี (ใบ)[1],[2],[5] ส่วนต้นใช้ฝนทาแก้ฝีอักเสบ พิษฝีอักเสบ (ต้น)[3],[6]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการบวม แก้ปวดบวม (ใบ)[1],[2],[3]
- ใบใช้ตำผสมกับข้าวเหนียวดำ ใช้เป็นยาพอกแก้กระดูกหัก (ใบ)[7]
ประโยชน์ของว่านธรณีสาร
- ว่านธรณีสารจัดเป็นไม้มงคลโบราณที่นิยมนำมาใช้ประกอบทำน้ำมนต์ โดยใช้ใบว่านธรณีสารชุบกับน้ำมนต์ ใช้ประพรมเพื่อเป็นการปัดรังควานและเสนียดจัญไร จึงนิยมปลูกกันไว้ตามวัด ส่วนการปลูกตามบ้านมีบ้างประปราย[3]
- คนไทยโบราณเชื่อว่าถ้าปลูกต้นธรณีสารไว้กับบ้านจะเป็นสิริมงคล ทำให้มีความสุขร่มเย็น หากว่านธรณีสารงอกงามดี จะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าเจ้าของจะได้เกียรติยศ ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือมีโชคลาภ และยังเชื่อด้วยว่าว่านธรณีสารสามารถแผ่อิทธิคุณ ช่วยคุ้มครองอาณาบริเวณให้รอดพ้นจากมนต์ดำต่าง ๆ ช่วยปัดเสนียดจัญไรไม่ให้เข้ามาทำอันตรายได้ สำหรับการปลูก ว่านชนิดนี้มักขึ้นในที่ร่ม ให้ใช้กระถางใบใหญ่ ส่วนดินที่ใช้ปลูก ให้ใช้ดินร่วน หากใส่ปุ๋ยคอกด้วยก็จะช่วยให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น และเมื่อเอาดินกลบหัวว่านอย่ากดดินให้แน่น และให้รดน้ำพอชุ่ม ๆ ซึ่งก่อนรดให้สวดด้วยคาถา "นโม พุทธยะ" จำนวน 3 จบก่อนทุกครั้ง เมื่อว่านตั้งตัวได้ควรให้ได้รับแสงแดดรำไร เพื่อหัวว่านจะได้มีขนาดใหญ่ และควรปลูกว่านธรณีสารในวันพฤหัสบดีข้างขึ้นจะดีที่สุด[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านธรณีสาร (Wan Thorani San)”. หน้า 274.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านธรณีสาร”. หน้า 162.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ว่านธรณีสาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [02 มิ.ย. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ธรณีสาร”. หน้า 355.
- ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านธรณีสาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [02 มิ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “สมุนไพรธรณีสาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [02 มิ.ย. 2014].
- คู่มือการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลลำพะยา. “ว่านธรณีสาร”. หน้า 34.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chatchai Powthongchin, judymonkey17, Tai Lung Aik, Cerlin Ng, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)https://medthai.com/