บานบุรีสีเหลือง (Allamanda cathartica),

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


บานบุรีสีเหลือง (Allamanda cathartica)

บานบุรีเหลือง

บานบุรี ชื่อสามัญ Allamanda, Common allamanda, Golden trumpet, Golden trumpet vine, Yellow bell

บานบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Allamanda cathartica L. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ดอกบานบุรีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส

บานบุรี มีอยู่ด้วยหลายชนิด โดยบานบุรีสีเหลือง บานบุรีสีกุหลาบ และบานพารา จะอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุล Allamanda ส่วนบานบุรีสีแสด (บ้างเรียกว่า "บานบุรีหอม") จะอยู่ในสกุล Odontadenia และบานบุรีสีม่วง จะอยู่ในสกุล Saritaea แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ตีนเป็ด ยกเว้นบานบุรีม่วงที่จะจัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) (ผู้เขียน)

ลักษณะของบานบุรีเหลือง

  • ต้นบานบุรี จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้เถาอาศัยต้นไม้อื่นเพื่อพยุงตัวขึ้นไป ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบและเป็นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ลำต้นไม่มีขน ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และการเพาะเมล็ด ชอบน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เติบโตเร็ว ทนความแล้งและดินเค็มได้ดี มักขึ้นกลางแจ้ง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน แต่อยู่ได้ทั้งในที่ร่มรำไรและที่มีแสงแดดจัด โดยพรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิลและอเมริกาเขตร้อน และจะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ในแต่ละชนิดก็จะมีสีของดอกที่แตกต่างกันออกไป[1],[2],[4],[8]

ต้นบานบุรีเหลือง

บานบุรี

บานบุรีสีเหลือง

ยางจากต้นบานบุรีเหลือง

  • ใบบานบุรี ใบเป็นใบเดี่ยว และจะติดเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน หรืออาจจะติดอยู่รอบ ๆ ข้อ ข้อละประมาณ 3-6 ใบ ลักษณะของใบบานบุรีเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปหอก รูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร[1],[2],[8]

ใบบานบุรีเหลือง

  • ดอกบานบุรี ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณยอด โดยจะออกตามวอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหอก ปลายกลีบดอกมนใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้นหรือเป็นหลอดแคบ ดอกตูมนั้น กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5 อัน ติดอยู่ด้านในใกล้กับโคนท่อดอก ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมีช่องเดียว ภายในมีรังไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ก้านเกสรมีขนาดสั้นและมีขน ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกเป็นพิเศษ[1],[2],[4],[8]

ดอกบานบุรี

ดอกบานบุรีเหลือง

  • ผลบานบุรี ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นหนาม เมื่อแก่จะแตกออกได้ ภายในผลมีเมล็ดรูปไข่จำนวนมาก[1],[2]

ผลบานบุรีเหลือง

สรรพคุณของบานบุรีเหลือง

  • ใบมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ใบ)[1],[2]
  • ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ใบ)[1],[2]
  • ใบมีรสเมาร้อน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดเกร็ง (ใบ)[1],[2],[6]
  • เปลือกและยาง มีรสเมาร้อน ใช้ปริมาณน้อยมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ช่วยขับน้ำดี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษต่อหัวใจ และทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ (เปลือกและยาง)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบานบุรีเหลือง

  • สมุนไพรบานบุรีเหลือง มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านเนื้องอก แต่ฤทธิ์ดังกล่าวยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป[6]

ข้อควรระวังในการสมุนไพรบานบุรี

  • บานบุรีเหลืองเป็นพืชมีพิษ การใช้เป็นยาสมุนไพรจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะทุกส่วนของต้นบานบุรีเหลืองใช้ปริมาณน้อยเป็นยาระบายและทำให้อาเจียน หากนำมาใช้มาก ๆ จะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรงและทำให้อาเจียนไม่หยุด ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้[1],[2],[5]
  • หากรับประทานยางหรือผลเข้าไปจะทำให้อาเจียน ท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วงอย่างรุนแรง มีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ มีไข้สูง ถ้าหากสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้[3]
  • ทั้งต้นและยางมีสารพิษ digitalis (ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจและเลือด) หากรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุในปากและในกระเพาะอาหารก่อน แล้วตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และปวดศีรษะ ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากและล้างท้องไม่ทัน สารพิษดังกล่าวจะถูกดูดซึมผ่านทางลำไส้และแสดงความเป็นพิษต่อหัวใจ (จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์) โดยวิธีการรักษาขั้นต้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แล้วให้ทำการล้างท้องและรักษาไปตามอาการ ถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ก็ควรให้ Potossium chloride ประมาณ 5-10 กรัม หรือให้ K+ (80 mEq/L) ส่วนอาการการเจ็บแขนอาจช่วยด้วยการนวดและประคบด้วยน้ำร้อน[7]
  • ผลและยางจากต้นมีพิษ (สารที่เป็นพิษคือ Resin ซึ่งเป็นส่วนผสมของ Phenol และ Polycyclic acid) หากยางจากต้นถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการอักเสบ คัน แดง[3]

ประโยชน์ของบานบุรีเหลือง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน ริมถนน ริมทะเล ตามทางเดิน หรือปลูกคลุมดิน สามารถตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มได้ อีกทั้งยังมีดอกที่สวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกมากเป็นพิเศษ[3],[4],[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “บานบุรีเหลือง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 424-425.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “บานบุรีเหลือง (Banburi Lueang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 163.
  3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “บานบุรีเหลือง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [01 เม.ย. 2014].
  4. หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1.  “บานบุรี”.  (ปรัชญา ศรีสง่า).
  5. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา.  “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_main.asp.  [01 เม.ย. 2014].
  6. วิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลและเครื่องหมายดีเอ็นเอแบบบาร์โค้ดของพืชสกุล Allamanda”. (สโรชา อังคปัทมากุล, ดร.อรุณรัตน์ ฉวีราช, ดร.ธวัดชัย ธานี, ดร.รุ่งลาวัลย์ สุดมูล).
  7. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “บานบุรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [01 เม.ย. 2014].
  8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “บานบุรีสีเหลือง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [01 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Botanizing & Scenaries, Reinaldo Aguilar, André Cardoso, Simone Raad, Oriolus84, Karl Gercens, Tony Rodd, SierraSunrise)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)https://medthai.com/