สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
พญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris)
พญาสัตบรรณ
พญาสัตบรรณ ชื่อสามัญ Devil tree, White cheesewood, Devil bark, Dita bark, Black board tree
พญาสัตบรรณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)
สมุนไพรพญาสัตบรรณ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หัสบัน สัตบรรณ สัตตบรรณ จะบัน บะซา ปูลา ปูแล ตีนเป็ด ตีนเป็ดขาว ตีนเป็ดไทย ต้นตีนเป็ด เป็นต้น
ลักษณะของพญาสัตบรรณ
- ต้นพญาสัตบรรณ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล เมื่อกรีดจะมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ นอกจากนี้ต้นพญาสัตบรรณยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย
- ใบพญาสัตบรรณ ออกเป็นกลุ่มที่บริเวณปลายกิ่ง โดยหนึ่งช่อจะมีใบประมาณ 5-7 ใบ มีสีเขียวเข้ม ใบยาวรี ปลายใบมนโคนแหลม ขนาดของใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น เมื่อเด็ดออกจะมีน้ำยาวสีขาว
- ดอกพญาสัตบรรณ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น หนึ่งช่อจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
- ผลพญาสัตบรรณ ผลออกเป็นฝัก ลักษณะฝักยาว เป็นฝักคู่หรือฝักเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้น ๆ กลมเรียว มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีขุยสีขาวสามารถปลิวไปตามลมได้ ส่วนในฝักจะมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมากลักษณะเป็นรูปขนานแบน ๆ ติดอยู่กับขุย
สรรพคุณของพญาสัตบรรณ
- เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นสัตบรรณมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน (เปลือกต้น)
- น้ำยางจากต้นใช้หยอดหูแก้อาการปวดหูได้ (ยาง)
- น้ำยางจากต้นใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟันได้ (ยาง)
- ใบอ่อนใช้ชงดื่ม ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิดได้ (ใบ)
- เปลือกต้นใช้แก้หวัด แก้อาการไอ รักษาหลอดลมอักเสบ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ไข้ (เปลือกต้น,ใบ)
- ดอกช่วยแก้ไข้เหนือ ไข้ตัวร้อน (ดอก)
- เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม สรรพคุณช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ (ใบ)
- เปลือกต้นพญาสัตบรรณช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานลำไส้ได้ (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงกระเพาะ (ยาง)
- กระพี้มีสรรพคุณช่วยขับผายลม (กระพี้)
- ช่วยขับพยาธิไส้เดือน (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)
- ช่วยขับระดูของสตรี (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำนม (เปลือกต้น)
- ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ใบ)
- ในประเทศอินเดียมีการใช้ใบและยางสีขาวในการนำมาใช้รักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ (ใบ, ยาง)
- ยางใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว (ยาง)
- เปลือกต้นใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน (เปลือกต้น)
ประโยชน์ของพญาสัตบรรณ
- พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) สารสกัดจากใบพญาสัตบรรณสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ส่วนสารสกัดจากเปลือกของลำต้นก็จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้
- เนื้อไม้สามารถนำไปทำทุ่นของแหและอวนได้ (ในบอร์เนียว)
- เนื้อไม้หยาบ อ่อน แต่เหนียว สามารถใช้ทำหีบใส่ของ หีบศพ ทำโต๊ะ เก้าอี้ ฝักมีดของเล่นสำหรับเด็ก รองเท้าไม้ หรือไม้จิ้มฟันได้
- เนื้อไม้ ใช้ทำฟืน หรือนำใช้ทำโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน เป็นต้น
- สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหยของดอกพญาสัตบรรณสามารถใช้ไล่ยุงได้
- ต้นพญาสัตบรรณนอกจากจะปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงาแล้ว ยังเป็นไม้มงคลนามที่นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
- ต้นพญาสัตบรรณจัดเป็นไม้มงคลนาม ปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคนไทยโบราณเชื่อว่าการปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ที่บ้านจะทำให้มีเกียรติยศ จะทำให้ได้รับการยกย่องและการนับถือจากบุคคลทั่วไป ซึ่งความหมายของต้นก็มาจากคำว่าพญา ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่องและเคารพนับถือ ส่วนคำว่า สัต ก็มีความหมายว่า สิ่งที่ดีงาม ความมีคุณธรรมนั่นเอง และตามความเชื่อจะนิยมปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ทางทิศเหนือและผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ แต่ถ้าอยากให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนจุนวิทยาคม, เว็บไซต์โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์, เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง จังหวัดเชียงใหม่
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)https://medthai.com/