สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ
ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
ยอป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda coreia Buch.-Ham. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรยอป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คุย (พิษณุโลก), อุ้มลูกดูหนัง (สระบุรี), สลักป่า สลักหลวง (เหนือ), กะมูดู (มลายู), คุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[3]
หมายเหตุ : ยอป่าในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกับต้นยอป่าชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl. หรือที่ทั่วไปเรียกว่า "ยอเถื่อน"
ลักษณะของยอป่า
- ต้นยอป่า จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตรและอาจสูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดเป็นพุ่มรี กิ่งก้านมักคดงอและหักง่าย ตามผิวกิ่งมีปุ่มปมมาก ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทา เปลือกหนาแตกเป็นร่องตามยาวและแนวขนาน หรือแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ช่อดอกและใบจะออกหนาแน่นรวมกันอยู่ที่ปลายกิ่ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือวิธีการปักชำกล้า พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณทั่วไป[1],[2],[4]
- ใบยอป่า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตัวแบบตรงข้ามสลับกับตั้งฉาก ใบมักออกรวมกันที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลมหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-17 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ใบแก่จะบางและเหนียว ผิวใบด้านบนมีขนสากขึ้นประปราย ส่วนด้านล่างมีขนนุ่ม มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบหลุดร่วงง่าย[2]
- ดอกยอป่า ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกรวมกันเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ กลีบดอกหนาและเป็นสีขาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ๆ ปลายเป็นกลีบแหลม แยกเป็นกลีบ 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อดอกบานจะแผ่กว้างออก เมื่อดอกมีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนหลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบนเป็นสีเขียวอมเหลือง เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้สั้น 5 ก้านชูพ้นออกมาจากหลอดกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 2 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
- ผลยอป่า ผลเป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เนื้อในผลอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ และเป็นสีขาว ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล โดยมีเมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย โดยจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[2]
สรรพคุณของยอป่า
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)[1],[2]
- แก่นมีรสขมร้อน นำมาต้มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
- เปลือกและเนื้อไม้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย (เปลือกและเนื้อไม้)[2] ใบเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[2]
- ใบนำมาอังไฟ แล้วนำมาปิดที่หน้าอกและหน้าท้อง ช่วยแก้ไอ (ใบ)[1],[2]
- ช่วยป้องกันสันนิบาตหน้าเพลิง (แก่น)[4]
- ผลอ่อนมีสรรพคุณแก้คลื่นไส้อาเจียน (ผลอ่อน)[1],[2]
- ผลสุกช่วยขับลมในลำไส้ (ผลสุก)[1],[2] ใบแก้จุกเสียด (ใบ)[2] ส่วนแก่นขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ (แก่น)[1],[2]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[2]
- ผลสุกเป็นยาขับระดูของสตรี (ผลสุก)[1],[2]
- แก่นมีรสขมร้อน ใช้ต้มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับเลือด ขับและฟอกโลหิตระดู ขับน้ำคาวปลา (แก่น)[1],[2]
- ช่วยแก้ม้ามโต (ใบ)[1],[2]
- ช่วยป้องกันบาดทะยักปากมดลูก (แก่น)[1],[2]
- ใบสดใช้ตำพอกศีรษะเป็นยาฆ่าเหา (ใบ)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยอป่า
- ใบและกิ่งยอป่าพบอิริดอยด์ไกลโคไซด์ ได้แก่ yopaaoside A, B, C, 6-O-acetylscandoside, 10-O-acetylmonotropein, asperulosidic acid, deacetyl-asperuloside, asperuloside สารกลุ่มเซโคอิริดอยด์ไกลโคไซด์ ได้แก่ secoxyloganin สารกลุ่มฟีโนลิกไกลโคไซด์ ได้แก่ 3,4,5-trimethoxyphenyl 1-O-β-apiofuranosyl (1"→6')-β-glucopyranoside สารกลุ่มแอนทราควิโนนไกลโคไซด์ ได้แก่ lucidine 3-O-β primeveroside[2]
ประโยชน์ของยอป่า
- ผลสุกใช้รับประทานได้[2]
- ใบอ่อนและยอดอ่อนใช้ลวกหรือต้มให้สุกจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ โดยจะมีรสขมมัน[2]
- ในอดีตจะใช้เปลือกต้นและรากของต้นยอป่ามาย้อมผ้าให้เป็นสีแดง ซึ่งจะต้องมีการตัดต้นและค่อนข้างหาได้ยาก จึงได้มีการนำใบของยอป่ามาใช้ย้อมสีเส้นไหม ด้วยกรรมวิธีย้อมร้อนนาน 1 ชั่วโมง หลังการย้อมนำเส้นไหมมาแช่ในสารละลายช่วยติดสีสารส้ม จะได้เส้นไหมสีเหลืองอ่อน แต่ถ้าแช่ในจุนสีจะได้เส้นไหมสีเหลืองเขียว ส่วนการไม่ใช้สารช่วยติดสีใด ๆ จะได้เส้นไหมสีเหลืองนวล และการใช้สารละลายสารช่วยติดสีสารส้มในขณะย้อม จะได้เส้นไหมสีเหลืองอ่อนเช่นเดียวกัน[2],[3],[5]
- ต้นยอป่าเป็นไม้มงคลของชาวอีสาน เพราะในการนำข้าวขึ้นยุ้งจะตัดกิ่งยอป่ามาค้ำยุ้งไว้ก่อนจะนำข้าวขึ้นยุ้ง ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งมีความหมายว่าให้ข้าวเพิ่มพูน[2] คนไทยโบราณจะนิยมปลูกต้นยอไว้ในบริเวณบ้าน โดยจะปลูกไว้ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าจะช่วยป้องกันจัญไรได้ อีกทั้งคำว่า “ยอ” ก็เป็นมงคลนาม ถือเป็นเคล็ดว่าจะได้รับการสรรเสริญเยินยอหรือได้รับการยกยอปอปั้นในสิ่งดีงาม[4]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้[4]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านหรือปลูกเพื่อให้ร่มเงาในสวนทั่วไปก็ได้ เป็นไม้หอมที่ดีอีกชนิดหนึ่ง และดอกมีกลิ่นหอมอ่อน[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ยอป่า”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 167.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ยอป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [21 พ.ค. 2014].
- พรรณไม้บริเวณสวนสมุนไพรสาธิต. “ยอป่า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld1.htm. [21 พ.ค. 2014].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย. “ยอป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [21 พ.ค. 2014]
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม. “ยอป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [21 พ.ค. 2014]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chatchai Powthongchin), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
https://medthai.com/