มะกอก

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ชื่อสมุนไพร

มะกอก

ชื่ออื่นๆ

กอกกุก กูก กอกเขา กอกหมอง ไพแช มะกอกบ้าน กราไพ้ย ไพ้ย

ชื่อวิทยาศาสตร์

Spondias pinnata (L.f.) Kurz

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Anacardiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง เปลือกสีเทา หนา เรียบ เปลือก ใบ และผล มีกลิ่นหอม มีรูอากาศตามลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนมีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ชั้นเดียว เรียงแบบสลับ ใบย่อย 4-6 คู่ ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ฐานใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างนุ่ม ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง  เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบเรียบ ก้านใบร่วมยาว 12-16 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็ก สีขาวครีม กลีบดอกรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว เกสรเพศผู้มี 10 อัน กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลสด มีเนื้อ ฉ่ำน้ำ รูปไข่ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ผลแก่สีเหลืองอมเขียว ถึงสีเหลืองอ่อน ประด้วยจุดสีเหลือง และดำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดเดียว ใหญ่และแข็งมาก ผิวเป็นเสี้ยนขรุขระ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก ผลรับประทานได้ ผลสุกนำมาใส่ส้มตำ น้ำพริก ยำ มีรสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย
สรรพคุณ    

             ตำรายาไทย  ใช้  ผล รสเปรี้ยวอมหวานเย็น เป็นยาฝาดสมาน แก้เลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ แก้โรคขาดแคลเซียม  เนื้อในผล แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้บิด ผล ใบ และเปลือกลำต้น แก้ร้อนใน ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้หอบ บำรุงธาตุ และแก้บิด  เปลือกลำต้น รสฝาดเย็นเปรี้ยว ช่วยสมานแผล มีกลิ่นหอม ฝาดสมานและเป็นยาเย็น ใช้ในโรคท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ แก้บิดปวดมวน ระงับอาเจียน ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้สะอึก ยางจากต้น มีลักษณะใส สีน้ำตาลปนแดง ไม่ละลายน้ำ แต่จะเกิดเป็นเมือก ใช้ติดของ และทำให้เยื่อเมือก อ่อนนุ่ม เปลือกต้นและแก่น เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใบ รสฝาดเปรี้ยว แก้ปวดท้อง น้ำคั้นจากใบหยอดแก้ปวดหู แก้หูอักเสบ ใบมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยว และฝาดสมาน เป็นผักจิ้ม และแต่งกลิ่นอาหาร เมล็ด เผาไฟแช่น้ำดื่ม รสเย็น แก้ร้อนใน สุมแก้หอบ แก้สะอึก ราก รสฝาดเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ ขับปัสสาวะ สารสกัดเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ ลดการบีบตัวของลำไส้ หรือลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลอง
            ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  ใช้  ใบ เคี้ยวกินแก้ท้องเสีย

www.phargarden

การใช้ประโยชน์           

เปลือกและใบ: ใช้เป็นยาบำรุงตา ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ เลือดออกตามไรฟัน

ยอดอ่อนและใบอ่อน: ใช้รับประทานเป็นผักสด กินกับส้มตำ ลาบ ยำ อาหรที่มีรสจัด

ใบ: เคี้ยวกินแก้ท้องเสีย

ผล: ผลสดมีรสเปรี้ยวใช้ตำน้ำพริก ส้มตำ และปรุงอาหารอื่นๆ ที่ต้องกากรสเปรี้ยว

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

https://adeq.or.th/