ฟักข้าว

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ชื่อสมุนไพร

ฟักข้าว

ชื่ออื่นๆ

ขี้กาเครือ (ปัตตานี), คัดเข่า (นครราชสีมา), ผักข้าว (ภาคเหนือ), หมักบวบเข่า, คายเข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์

Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.

ชื่อพ้อง

Momordica macrophylla Gage, M. meloniflora Hand.-Mazz., M. mixta Roxb., Muricia cochinchinensis Lour., Zucca commersoniana

ชื่อวงศ์

Cucurbitaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาเลื้อย อายุหลายปี ลำต้นหนาเกลี้ยง มีมือพันเกาะออกตามซอกใบ เถาแก่มีเหง้าใต้ดิน เถากลมมีขนนุ่ม เถาแก่ไม่มีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบไม่มีแฉก หรือเป็นแฉกรูปฝ่ามือ 3-5 แฉก รูปไข่ หรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 ซม. ปลายแฉกแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ หรือกึ่งหยักซี่ฟัน ก้านใบยาว 2.8-5.5 ซม. มีต่อม 2-5 ต่อม ตามก้านใบและโคนใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเดี่ยว หรือออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ยาว 6-8 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมเหลืองอ่อน สามกลีบในมีสีดำบริเวณโคนดอกด้านใน ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 5-15 ซม. ใบประดับรูปไตหรือเกือบกลม กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 2.8-3.2 ซม. ผิวด้านในมีขน กลีบเลี้ยง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-6 มม. ยาว 1-1.5 ซม. หนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยง หรือมีขนสากประปราย กลีบดอกรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว 4-5 ซม. มีเส้นตามยาวชัดเจน ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว 3-10 ซม. ใบประดับรูปรี กลีบเลี้ยงรูปแถบ แกมรูปขอบขนาน ยาว 5-10 มม. กลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว 1-1.5 ซม. ผิวมีตุ่มขรุขระ ผลรูปไข่ รีหรือกลม กว้าง 5-8 ซม. ยาว 6-12 ซม. ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง ผิวเป็นหนามสั้นทั้งผล เมล็ดแบน รูปกลมหรือรี เปลือกหุ้มสีน้ำตาลดำ ขอบเมล็ดโดยรอบมีรอยหยัก ลักษณะเหมือนรอยถูกกัด ผิวมีลายเส้น เมล็ดมีจำนวนมาก มักขึ้นตามลำห้วย พบตามที่รกร้าง หรือชายป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูงประมาณ 1,000 เมตร ออกดอก และเป็นผล ระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์- เมษายน

สรรพคุณ    
               ตำรายาไทย ใบ รสขมเย็น แก้ไข้ตัวร้อน ใบปรุงเป็นยาเขียวแก้ไข้ ถอนพิษอักเสบ ตำพอกแก้ปวดหลัง แก้กระดูกเดาะ ใบสดตำพอกแก้ฝี แก้พิษต่างๆ ใบอ่อนและราก ต้มเป็นยาขมแก้ไข้ ราก รสเบื่อเย็น ใช้ถอนพิษ  รากต้มดื่มถอนพิษทั้งปวง ถอนพิษไข้ ขับเสมหะ แก้เข้าข้อ ปวดตามข้อ ใช้ทำให้เกิดฟองในน้ำใช้แทนสบู่ และใช้ฆ่าเหา แช่น้ำสระผม แก้ผมร่วง  เมล็ด  รสมันเมาเย็น เมล็ดดิบเป็นพิษร้ายแรง ทำให้ลิ้นแข็ง ต้องเผาหรือทอดให้สุก เมล็ดที่ใช้ทำยาจะคั่วให้กรอบก่อน กินบำรุงปอด แก้ฝีในปอด รักษาวัณโรค แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้ท่อน้ำดีอุดตัน เมล็ดใช้รักษาหูด แผลฝีหนอง และแผลพุพอง รักษาริดสีดวงทวาร เมล็ด มีน้ำมัน ใช้ทำเทียนไขให้ความสว่าง ใช้เป็นน้ำมันขัดเงา ผลอ่อน ใบอ่อน และดอก ใช้ลวก ต้ม นึ่ง แล้วรับประทานเป็นผัก หรือใส่ในแกง
               ชาวเวียดนามใช้เยื่อหุ้มเมล็ด เพื่อให้สีแก่ข้าวเหนียวที่นำไปนึ่ง

http://www.phargarden.com/

สาระสำคัญที่พบ
– Lycopene
– Chondrillasterol
– Cochinchinin
– Columbin
– Gypsogenin glycoside
– Hemloside MA-1
– Momorcochin
– Momordic acid
– Momordica saponin II
– Momordin I-A
– Momordin I-B
– Momordin I-C
– Momordin I-D
– Momordin I-E
– Momordin II
– Momordin II-A
– Momordin II-B
– Momordin II- C
– Momordin II-D
– Momordin II-E
– Momordin III
– Nardol olenolic acid glycoside MG-1
– Olenolic acid glycoside MG-2

สาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
1. แคโรทีนอยด์ (Carotenoids)
– ไลโคปีน (Lycopene) ประมาณ 380 ไมโครกรัม/ฟักข้าว 1 กรัม
– เบตาแคโรทีน (Beta-carotene) ประมาณ 408 มิลลิกรัม/ฟักข้าว 1 กรัม
2. อัลฟาโทโคฟีรอล (Alpha-tocopherol)

ประโยชน์ฟักข้าว
1. เยื่อหุ้มเมล็ดที่มีสีแดง นำใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริม
2. เยื่อหุ้มเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมไอศครีม
3. เยื่อหุ้มเมล็ดใช้เป็นสีผสมอาหารหรือขนมหวาน
4. เมล็ด และเยื่อหุ้มเมล็ดนำมาสกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง
5. เยื่อหุ้มเมล็ดนำมาขยำแยกออกจากเมล็ด ก่อนใช้ทำน้ำผลไม้ดื่ม
6. ผลฝักข้าวอ่อน และยอดอ่อน นำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ทำอาหารประเภทต้ม แกงต่างๆ

สรรพคุณฟักข้าว
ผล และเมล็ด
– ต้านมะเร็ง และรักษาโรคมะเร็ง
– ป้องกัน และรักษาโรคเบาหวาน
– แก้หูดหรือฝีมะม่วง
– รักษาโรคในปอด
– แก้ไอ แก้วัณโรค
– รักษาริดสีดวงทวาร
– เยื่อหุ้มเมล็ดนำมาขยำผสมน้ำ ก่อนใช้หุงข้าว ช่วยแก้โรคโลหิตจาง
– เมล็ดแห้งนำมาตำหรือบด ก่อนใช้ผสมน้ำมันจากพืช อาทิ น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ ก่อนใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดเมื่อย อาการอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ

ยอดอ่อน และใบ (มีรสขม)
– แก้ริดสีดวง
– บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย
– ช่วยแก้พิษไข้ พิษอักเสบ
– แก้อาการปวดบวม
– ใบนำมาตำผสมน้ำ ก่อนใช้ทาแผลแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการบวม

ราก และลำต้น
– ใช้ถอนพิษ แก้พิษร้อน ถอนพิษสำแดง
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการปวดตามข้อ ลดข้ออักเสบ
– แก้ผมร่วง
– ใช้คุมกำเนิด
– แก้กระหายน้ำ
– ราก และลำต้นนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ก่อนใช้ขยำศรีษะสำหรับฆ่าเหา
– นำมาตำขยำน้ำ ใช้สำหรับสระผมแทนสบู่
– นำมาตำผสมน้ำมันหรือน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้ประคบรอยแผลสัตว์หรือแมลงกัดต่อย ช่วยแก้อาการบวม ลดอาการปวด และลดการอักเสบ

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรมอื่นๆ
– ต้าน และรักษามะเร็ง
– ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
– ทำให้เกิดการแท้ง
– ลดน้ำตาลในเลือด
– กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
– กระตุ้นเอนไซม์ Alcohol dehydrogenase
– ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน
– ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของฟักข้าว
การทดลองฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผลฟักข้าวในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ Oxidative stress ก่อนจะใช้สาร MC0CI ที่สกัดได้จากเมล็ดฟักข้าวให้หนูทดลอง ซึ่งพบว่า สารชนิดนี้ สามารถลด Glutathione ในเซลล์ได้ รวมถึงช่วยป้องกันเซลล์จากภาวะ Oxidative stress ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารชนิดนี้ในเมล็ดฟักข้าว ออฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันมะเร็งได้ดี

การทดสอบครีมทาผิวที่ผลิตได้จากน้ำสกัดเยื่อหุ้มของฟักข้าวในอาสาสมัคร 20 คน ที่ช่วงการใช้ 8 สัปดาห์ พบว่า สภาพผิวของอาสาสมัครมีความยืดหยุ่น ความเรียบลื่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผลฟักข้าวจะมีปริมาณมากทั้งในส่วนของเปลือก เนื้อผล เยื่อเมล็ด และเมล็ด ทั้งนี้ สารอนุมูลอิสระในผลฟักข้าวจะมีมากในระยะที่ผลกำลังสุก

การปลูกฟักข้าว
ฟักข้าวนิยมปลูกด้วยเมล็ด แต่ก็ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีอื่นได้ อาทิ การปักชำกิ่ง เป็นต้น ซึ่งฟักข้าวเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ยกเว้นดินเค็มจัด
วิธีเพาะเมล็ด
1. นำเมล็ดแห้งมาแช่น้ำไว้ 1 คืน ทั้งนี้ น้ำแช่อาจผสมน้ำยาเร่งรากด้วยยิ่งดี หรือหลังจากแช่น้ำแล้ว ค่อยนำมาแช่น้ำยาเร่งราก ซึ่งอาจใช้น้ำขี้หมูแทนน้ำยาเร่งรากก็ได้
2. นำเมล็ดปักลงในถุงเพาะชำ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ วัสดุเพาะควรผสมดินกับแกลบดำหรือปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:3
3. หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว ให้ดูแลด้วยการให้น้ำเช้าเย็นทุกวัน จนกว่าเมล็ดงอก และแตกใบแล้ว 3-5 ใบ ค่อยนำลงปลูกบนแปลง

วิธีปักชำ
วิธีนี้เพาะนี้ มักใช้เพื่อเลือกหรือเพื่อให้ได้ต้นฟักข้าวที่เป็นต้นดอกเพศผู้หรือต้นดอกเพศเมีย และช่วยให้ฟักข้าวติดผลได้เร็วกว่าการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด

การปักชำทำได้ด้วยการตัดเถายาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วนำมาแช่น้ำยาเร่งราก และน้ำยาป้องกันเชื้อรา ก่อนจะปักชำเฉียงลงลึก 10-15 เซนติเมตร ด้วยการเอียงเถาประมาณ 45 องศา หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม และดูแลจนกิ่งฟักข้าวแตกใบ 3-5 ใบ ก่อนจะนำปลูกลงแปลง

การเตรียมแปลงปลูก
สำหรับการปลูกฟักข้าวเพื่อการค้าหรือปลูกลงแปลงขนาดใหญ่จำเป็นต้องเตรียมแปลงปลูกไว้ก่อน ด้วยการไถพรวนดิน 1-2 รอบ ตากดินนานรอบละ 7-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช ทั้งนี้ ก่อนไถรอบ 2 ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีก่อน

การปลูก
หลังจากที่เพาะหรือเตรียมต้นกล้าจนเติบโตตามขนาดหรือระยะที่กำหนดแล้ว จึงนำลงปลูกบนแปลงใหญ่ ระยะปลูก 4×4 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 100 ต้น ทั้งนี้ ให้ผูกรัดต้นกับโคนเสาไว้ด้วย

การทำค้าง
การทำค้างจะใช้เสาไม้หรือเสาปูนปักใกล้โคนต้นไปตามแนวยาวของแถว พร้อมใช้ลวดขึงปลายเสาด้านบนให้เป็นตารางสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 5×5 เซนติเมตร หรือมากกว่า

การดูแลรักษา
หลังจากที่ปลูกเสร็จแล้ว มั่นให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ด้วยระบบสเปรย์หรือน้ำหยด พร้อมคอยรัดลำต้นให้โตขึ้นตามต้นเสาจนยอดลอยแขวนด้านบนได้ พร้อมคอยตัดแต่งกิ่งให้มีจำนวนที่พอเหมาะ ส่วนการใส่ปุ๋ยในระยะตั้งแต่ปลูกจนถึงก่อนออกดอกให้เน้นใส่ปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก/ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำ/ต้น ในระยะประมาณ 1 เดือน หลังปลูก และหลังจากนั้นเป็น 3-4 เดือน/ครั้ง ส่วนในระยะออกดอกจนถึงผลก่อนผลสุกจะเปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 12-12-24 แทน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ฟักข้าวจะเริ่มออกดอก 2-3 เดือน หลังปลูก หลังจากนั้น ประมาณ 30-40 วัน หลังติดผล ผลก็จะเริ่มสุก ซึ่งฟักข้าวจะทยอยออกดอก และติดผลได้ตลอดทั้งปี ปริมาณผลผลิตประมาณ 100-120 ผล/ปี แต่ละผลจะหนักประมาณ 0.5-0.8 กิโลกรัม หรือบางลูกอาจหนักได้ถึง 1 กิโลกรัม

นอกจากผลฟักข้าวที่เก็บจำหน่ายแล้ว ยอดฟักข้าวยังเป็นผลผลิตอีกอย่างที่ทำกำไรได้ดีมาก โดยเฉพาะในระยะหลังการตัดกิ่ง ซึ่งจะมีการแตกยอดอ่อนของฟักข้าวออกมาเรื่อยๆ

น้ำฟักข้าว
1. ผ่าแบ่งครึ่งผลฟักข้าวออกเป็น 2 ส่วน
2. ใช้ชอนคว้านตักเอาเมล็ดทั้งหมดออกแยกออกใส่ถ้วยก่อน
3. ตักขูดเอาเนื้อฟักข้าวด้านในแยกใส่อีกถ้วย
4. นำเมล็ดฟักข้าวมาขยำด้วยผ้าขาวบางจนมองเห็นผิวเมล็ดฟักข้าว ซึ่งจะได้เยื่อหุ้มเมล็ดที่แยกออกจากเมล็ด
5. กรองบีบแยกเมล็ดออกจากเยื่อหุ้มเมล็ด
6. นำเยื่อหุ้มเมล็ด และเนื้อผลฟักข้าวมาปั่น พร้อมกับน้ำเชื่อม และน้ำแข็งเล็กน้อย จนได้น้ำฟักข้าวปั่น

ทั้งนี้ หากต้องการรสเปรี้ยวเล็กน้อย ให้บีบน้ำมะนาวเติมใส่ก่อนปั่น 1-2 ลูก ตามความต้องการ หรือปั่นผสมรวมกับผลไม้อื่น เช่น เสาวรส และสับประรด เป็นต้น และเพื่อป้องกันเชื้อโรค หลังจากที่แยกเนื้อผล และเยื่อเมล็ดฟักข้าวแล้ว ให้นำทั้งสองส่วนมาปั่นผสมกับน้ำก่อน แล้วนำไปอุ่นฆ่าเชื้อก่อนจึงค่อยนำมาปั่นใส่น้ำแข็งดื่ม

https://www.nfc.or.th/