โกโก้

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


 วงศ์ชบา : Malvaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Theobroma cacao L.
– Theobroma เป็นภาษากรีก หมายถึง food of the gods หรือ อาหารของพระเจ้า
• ชื่อสามัญ :
– Cocoa
– Chocolate Tree

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
โกโก้ มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศของทวีปอเมริกากลาง และเม็กซิโกตอนใต้ เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในแถบประเทศร้อนชื้น ระหว่างละติจูดที่ 20 องศาเหนือ ถึงละติจูดที่ 20 องศาไต้  ในประเทศไทยมีการปลูกโกโก้มาในแถบจังหวัดทางภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช โดยนิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าวหรือสวนปาล์ม  และพบได้บ้างเล็กน้อยในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และตราด

ประวัติโกโก้
โกโก้เป็นพืชดั้งเดิมที่ชนเผ่ามายา และชาวแอชเทคส์ (ประเทศเม็กซิโก) ได้มีการปลูก และนำมาประกอบอาหารเป็นชนชาติแรกๆ ต่อมาชนชาติยุโรปได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากโกโก้ เริ่มต้นเมื่อครั้งที่โคลัมบัสเดินทางมาถึงอเมริกากลาง ในครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของการมาของโคลัมบัส เพื่อแสวงหาทรัพยากรใหม่ที่มีค่า จึงได้รู้จักพืชที่เรียกว่า โกโก้ มาตั้งแต่ครั้งนั้น แต่โคลัมบัสไม่ได้สนใจโกโก้นี้ เพราะมุ่งหาแต่ทองคำเพียงมากกว่า

ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1500 กองทัพสเปนได้ยกทัพมาบุกอเมริกากลาง และเม็กซิโก และได้รู้จักประโยชน์ของโกโก้ พร้อมกับนำกลับไปยังสเปน และค้นพบว่าเมล็ดมีรสเลิศ และอร่อยกว่าเมล็ดพืชอื่น ซึ่งในช่วงแรกมีการใช้ผงเมล็ดมาชงน้ำ และดื่มแบบเย็นๆ ซึ่งมีรสขม และเป็นฟอง จึงยังไม่นิยมมากนัก ต่อมาปรับเปลี่ยนวิธีชงเป็นแบบร้อน ทำให้มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมมากขึ้น หลังจากนั้น สเปนจึงเริ่มเพาะปลูกโกโก้จำนวนมากเป็นชาติแรกในยุโรป เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องดื่มโกโก้ และวิวัฒนาการแปรรูปมาเป็นช็อกโกแลตที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
โกโก้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง ลำต้นสูงประมาณ 3-12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงปานกลาง แต่มีใบใหญ่ และดก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา เปลือกลำต้นมีสีดำอมเทา และแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว เนื้อไม้แข็งปานกลาง

ใบ
โกโก้ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวหลายใบ เรียงสลับข้างกันตามความยาวของปลายกิ่ง ใบแต่ละใบมีลักษณะเป็นหอกหรือรูปไข่กลับ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขนาดใบกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร โคนใบมน และสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเป็นลูกคลื่นจากร่องของเส้นแขนงใบ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม มีเส้นแขนงใบแตกออกจากเส้นกลางใบ เยื้องสลับกัน 8-12 เส้น ปลายเส้นแขนงใบยาวจรดขอบใบ

ดอก
ดอกโกโก้ออกเป็นดอกเดี่ยว แต่ออกเป็นกลุ่มชิดกัน 5-15 ดอก ดอกในระยะแรกจะเกิดเป็นตุ่มหรือตาบนกิ่งหรือลำต้น จากนั้นค่อยพัฒนาก้านดอกยื่นยาวออกมาพร้อมกับกลีบดอกตูมที่หุบเรียงช้อนกัน ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อน

ดอกโกโก้ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ สมารถผสมเกสรได้ด้วยตนเอง ตัวดอกมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหรือสีม่วงแดงตามชนิดหรือสายพันธุ์ กลีบเลี้ยงนี้จะห่อหุ้มดอกขณะเป็นดอกตูม และเมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงจะแผ่ออกเป็นรูปหอก จำนวน 5 กลีบ ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปหอก มีขนาดเล็ก และสั้นกว่ากลีบเลี้ยง กว้างประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีขาวอมชมพู และมีแถบเส้นสีแดงเรื่อตามแนวยาว 2 เส้น มีปลายกลีบโค้งเข้าหาตรงกลางดอก

ถัดมาตรงกลางเป็นที่อยู่ของเกสร ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ มีก้านเกสรมีสีขาวอมแดงเรื่อ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายเกสรโค้งหรือม้วนเข้า ถัดมาตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรเล็ก และสั้น สีแดงเรื่อ ส่วนด้านล่างก้านเกสรเป็นรังไข่

ผล
โกโก้ มีลักษณะผลรี คล้ายกับผลมะละกอ ผลออกเป็นผลเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามกิ่ง และลำต้น ขนาดผลประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-30 เซ็นติเมตร ขั้วผลสอบ ท้ายผลแหลม เปลือกผลแบ่งเป็นกลีบๆ ตามแนวยาวของผล ประมาณ 8-12 กลีบ ผิวเปลือกขรุขระ หรือบางพันมีผิวเรียบ ไม่มีร่อง ผลอ่อนมีสีเขียว หรือสีเขียวแดง ผลสุกมีสีเหลือง และสุกจัดเปลี่ยนเป็นสีแดงอมเหลืองหรือสีแดงอมม่วง ตามชนิดหรือสายพันธุ์ เปลือกค่อนข้างหนา ผลจะสุกภายใน 5-6 เดือน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีม่วงแดง เยื่อเปลือกด้านในสุดมีสีขาว ภายในมี 30 – 45 เมล็ด เรียงขวางซ้อนกันเป็นแถว ประมาณ 5 แถว

เมล็ด
เมล็ดโกโก้มีลักษณะรี และแบนเล็กน้อย ถูกหุ้มด้วยเยื่อเมล็ดสีขาวใส เยื่อเมล็ดอ่อนนุ่ม และฉ่ำน้ำ ซึ่งให้รสหวาน ปลายเมล็ดทั้งสองด้านมน เนื้อเมล็ดแน่น มีสีน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร

พันธุ์โกโก้ที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ Forastero
พันธุ์ Forastero นิยมปลูกมากในประเทศแถบแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นพันธุ์ที่ปลูก และให้ผลผลิตมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ ประมาณ 80% ของผลผลิตโกโก้ทั่วโลก เนื่องจากให้เมล็ดมาก ใน 1 ผล จะให้เมล็ดโกโก้ตั้งแต่ 30 เมล็ด ขึ้นไป มีลักษณะเด่น คือ ใบเลี้ยงสีม่วงแก่ ผลมีสีเขียว เปลือกผลแข็ง เติบโตอย่างรวดเร็ว และปรับตัวได้ดีในแต่ละพื้นที่

2. พันธุ์ Trinitario
พันธุ์ Trinitario เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และพบปลูกในประเทศเอเชียบางประเทศ เป็นพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์แอฟริกันอมีโลนาโดกับพันธุ์คริโอโล (Criollo) นิยมปลูกด้วยวิธีการเสียบยอด และใช้กิ่งพันธุ์ปักชำ พันธุ์นี้ให้เมล็ดมากเหมือนกับพันธุ์ Forastero คือ มีเมล็ดโกโก้ตั้งแต่ 30 เมล็ด ขึ้นไป แต่จะโดดเด่นกว่าที่ความหอมของเมล็ด มีลักษณะเด่น คือ ผล และเมล็ดมีขนาดใหญ่ ก้นผลแหลม ใบเลี้ยงมีหลากหลายสี ผลอาจมีสีเขียวหรือสีขาว เปลือกผลแข็ง ต้านทานโรค และให้ผลผลิตสูง

3. พันธุ์ Criollo
พันธุ์ Criollo เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศแถบตะวันตกของเทือกเขาแอนดีสของทวีปอเมริกาใต้ พันธุ์นี้ ให้เมล็ดน้อยกว่า 2 พันธุ์ข้างต้น คือ 1 ผลจะให้เมล็ดโกโก้ประมาณ 20 – 30 เมล็ด ขึ้นไป มีลักษณะเด่น คือ ใบเลี้ยงสีขาวอมครีมหรือสีม่วงอ่อน ผลมีสีแดง แต่ต้านทานโรคได้ต่ำ เติบโตช้า แต่ที่นิยมปลูกเพราะมีความหอมของเมล็ดมากกว่าพันธุ์อื่นๆ 

ประโยชน์โกโก้
1. เมล็ดโกโก้ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมโกโก้ชนิดต่างๆ ได้แก่ โกโก้ผง และโกโก้เหลว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ช็อกโกแลต
2. ผงโกโก้หรือโกโก้เหลวใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาทิ นมโกโก้
3. ผงโกโก้หรือโกโก้เหลวใช้เป็นส่วนผสมในขมหวานขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาทิ ลูกอม ลูกกวาด ขนมปัง คุกกี้ และเค้ก เป็นต้น
4. ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด ได้แก่ น้ำหอม ลิปสติก
5. ใช้เป็นสารเติมแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมบุหรี่
6. ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตยา
7. ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์

สารสำคัญที่พบ
เมล็ดโกโก้ประกอบไปด้วย
– น้ำมัน (fixed oil) ประมาณ 30-50 %
– แป้ง ประมาณ 15 %
– โปรตีน ประมาณ 15 %
– alkaloid และ theobromine ประมาณ 1-4 %
– caffeine ประมาณ 0.07-0.36 %
– สารอื่นๆอีก เช่น catechin, pyrazine, tyramine และ tyrosine
– เปลือกโกโก้เป็นเพคติน

กรดในเมล็ดโกโก้ที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม
1. Acetic acid
2. Propionic acid
3. Butyric acid
4. Isobutyric acid
5. Isovaleric acid

นอกจากนั้น ยังพบสาระสำคัญหลายชนิด อ่านเพิ่มเติมที่ ช็อกโกแลต

สรรพคุณโกโก้
– ออกฤทธิ์ต้าน และกำจัดอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อของเซลล์ ผิวพรรณแลดูอ่อนกว่าวัย
– ช่วยป้องกันโรคในระบบหลอดเลือด และหัวใจ
– ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
– ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด
– กระตุ้นการทำงานของเกร็ดเลือด
– ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
– ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ที่มาข้อมูล  https://www.google.com/