ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
ชื่อสมุนไพร โกฐจุฬาลัมพา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกฐจุฬาลัมพาจีน (ทั่วไป),ตอน่า(ไทยใหญ่),แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว),ชิงฮาว ,ชิงเฮา(จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia annua Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artemisia chamomilla C. Winkl. , Artemisia stewartii C.B. Ckarke., Artemisia wadei Edgedw.
ชื่อสามัญ Sweet warm wood, Quinghao
วงศ์ COMPOSITAE
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรอย่างกว้างขวางทั้งการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนต่างก็นำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้รักษาโรคต่างๆ โดยในตำรายาไทยระบุว่า โกฐจุฬาลัมพา หรือโกฐจุฬาลัมพา เป็นเครื่องยาที่มีรสสุขุมหอมร้อนมีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน)ไข้เจรียง (ไข้ทีมีเม็ดผื่นขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด สุกใส ดำแดง รากสาดประดง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืด แก้ไอเป็นยาขับเหงื่อ ใช้แต่งกลิ่น เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาระบายแก้ไข้จับ เป็นยาเร่งประสาทส่วนกลางเหมือนการบูร ขับลม แก้ตกเลือด ตำพอกแก้ลมแก้ชำใน แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้บิด แก้ปวดท้องหลังคลอด แก้ระดูมากเกินไป
นอกจากนี้ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
และโกฐจุฬาลัมพายังเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เช่น มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐจุฬาลัมพาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก เป็นต้น
ส่วนการแพทย์แผนจีนใช้สมุนไพร โกฐจุฬาลัมพาทั้งต้นรักษาริดสีดวงทวารและไข้มาเลเรีย โดยแพทย์แผนโบราณของจีนใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินของพืชชนิดนี้ โดยจะเก็บในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อต้นมีดอก เอาส่วนต้นและกิ่งแก่ออก แล้วผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรคและแก้ไข้จับสั่น (มาเลเรีย)
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จีนได้สกัดอนุพันธุ์ของสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา เรียกว่า ชิงเฮาสู (Qinghaosu) หรือ อาคิมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียได้ ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ทำให้ได้ยารักษาโรคมาลาเรียชนิดใหม่ สามารถรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายสิบล้านคนทั่วโลก และปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาทั้งในรูปของยาเม็ดและยาฉีดได้อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปโกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา (A.annua) จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียวทั้งต้นมีกลิ่นแรง สูงได้ 0.7-2 เมตร ลำต้นอ่อนแตกกิ่งก้านมาก ในเดี่ยวเรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณ โคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (panicle) รูปพีรามิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น กลม มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงเหลืองเข้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น ดอกไม่มีแพพัส (pappus) วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอกเชื่อมติดกันเป็นหยอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5 เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดต่อ แต่ละอับมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน ผลแบบผลแห้ง เมล็ดล่อน (achene) รูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์โกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา (A.annua) สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกและดูแล ดังนี้
การเตรียมดิน ควรไถพรรณ ตากดินและย่อยดินให้ละเอียด และใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดิน การเพาะเมล็ด นำเมล็ดแก่มาแช่น้ำที่อุณหภูมิห้อง 12 ชั่วโมง แล้วโรยเมล็ดเป็นแถวในกระบะเพาะ กลบบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะเมล็ด 4 วัน เมื่อกล้าเริ่มมีใบจริง 1 คู่ ให้ย้ายลงถาดสำหรับเพาะกล้า หรือถุง และเมื่อกล้ามีอายุประมาณ 50 วัน สามารถย้ายลงแปลงปลูกที่เตรียมไว้ได้โดยควรมีระยะปลูก ระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 2.5 เมตร แล้วใช้ตาข่ายพรางแสงจนกว่ากล้าที่ย้ายปลูกจะแข็งแรง ส่วนในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกใบระยะนี้ควรทำหลังคาพลาสติกเพื่อป้องกันฝนเพราะรากอาจจะเน่าได้
องค์ประกอบทางเคมี
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ สารกลุ่มเซสควิเทอร์พีนแล็กโทน (sesquiterpene lactone) ชื่อ สารชิงเฮาซู (qinghaosu) หรือ สารอาร์เทแอนนิวอิน (arteannuin) หรือสารอาร์เทมิซินิน (artemisinin สารนี้แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรียชนิดฟัลชิปารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์หลายชนิดซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสารอาร์เทมิซินิน เช่น casticin, cirsilineol , chysoplenol-D , chrysoplenetin ส่วนในน้ำมันระเหยหอม (Essential oils ) ยังมีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ alpha-pinene ,camphene ,β-pinene , myrcene , 1,8-cineole ,artemisia ketone ,linalol , camphor,borneol ,และβ–caryophyllene
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกบจุฬาล้มพา
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ตามสรรพคุณของตำรายาไทยโดยการใช้ ส่วนเหนือดินแห้ง 3-12 กรัม ในรูปแบบยาต้มรับประทาน ต่อวัน ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้ในขนาด 4.5-9 กรัม โดยใช้ในรูปแบบยาต้มรับประทานเช่นเดียวกัน
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง ของใบโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ได้จากแหล่งต่างๆ ของประเทศบราซิล โดยวิธีการแช่ (infusion) เตรียมสารทดสอบโดยใช้ผงใบ 5 กรัม แช่สกัดในน้ำเดือด ปิดฝา และตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที แล้วนำไปกรอง ทดสอบสารสกัดเพื่อดูความไวของสารทดสอบต่อเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 ที่แยกได้จากประเทศบราซิล ซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควีน แต่ไวต่อยาควินิน และอาร์ทีมิซินิน ผลการทดสอบพบว่าใบโกฐจุฬาลัมพาจาก 4 แหล่ง มีปริมาณของอาร์ทีมิซินิน อยู่ระหว่าง 0.90-1.13% ความเข้มข้นของอาร์ทีมิซินินที่ได้จากการแช่สกัดใบ อยู่ในช่วง 40-46 mg/L ผลจากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบด้วยวิธีการแช่สกัดจากทั้ง 4 แหล่ง ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ P. falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 โดยมีค่า IC50 ต่ำ อยู่ระหว่าง 0.08-0.10 และ 0.09-0.13 μL/mL ตามลำดับ
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส ทดสอบการยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง (อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส เป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทดสอบด้วยวิธี Ellman’s colorimetric method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ความเข้มข้น 1 mg/mL สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ คิดเป็นร้อยละ 71.83 มีค่า IC50 เท่ากับ 87.43 μg/mLในขณะที่ส่วนสกัดย่อย F2 และ F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 36.75 และ 28.82 μg/mLตามลำดับ สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ อาร์ทีมิซินิน และ chrysosplenetin ที่แยกได้จากการสกัดเอทานอลจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 0.1 mg/mL มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.67 และ 80.00 ตามลำดับ มีค่า IC50 เท่ากับ 29.34 และ 27.14 μg/mL ตามลำดับจากการศึกษาสารที่ได้จากโกฐจุฬาลัมพาพบว่ามีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงใช้ในโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับไนตริกออกไซด์ และเอนไซม์โคลีนเอสเทอรเรสได้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนู (RAW 264.7 macrophage cell lines) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ใช้สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ในขนาด 50, 25, 12.5 และ 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F1-F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F2 มีฤทธิ์ในการยับยั้ง NO สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.39 และ 71.00 ตามลำดับ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ macrophage โดยมีอัตราการมีชีวิตรอดของเซลล์คิดเป็นร้อยละ 93.86 และ 79.87 ตามลำดับ
ฤทธิ์ระงับอาการปวด การศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ใช้ระงับอาการปวด, และอาการข้อแข็ง ในผู้ป่วยโรคข้อที่สะโพกหรือเข่าเสื่อม เป็นการศึกษาแบบ short-term randomized, placebo-controlled, double-blind study โดยทำการสุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-75 ปี จำนวน 42 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150, 300 mg และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับยาวันละสองครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นประเมินประสิทธิผลด้วย Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index (WOMAC®) และประเมินอาการปวดด้วย visual analog scale (VAS) ผลการทดสอบพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการดีขึ้นจากการประเมินด้วย WOMAC® อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −12.2; standard deviation, SD 13.84; p=0.0159) และยังพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการปวดลดลงจากการประเมินด้วย VAS อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −21.4 mm; SD, 23.48 mm; p=0.0082) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และได้รับสารสกัดขนาด 300 mg ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาดต่ำ 150 mg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และระงับปวดในผู้ป่วยกระดูกและข้ออักเสบได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐจุฬาลัมพา (A.annua) ส่วนมากแล้วเป็นการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาพืชชนิดนี้น้อยเพราะเป็นพืชที่ไม่มีในประเทศดังนั้น ผู้เขียนจึงยังไม่สามารถหาข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยามาได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เอกสารอ้างอิง
อ้างอิง: https://www.disthai.com/