แพงพวยฝรั่ง

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


แพงพวยฝรั่ง

แพงพวย ชื่อสามัญ West Indian periwinkle[1], Madagascar periwinkle[2], Bringht eye, Indian periwinkle, Cape periwinkle, Pinkle-pinkle, Pink periwinkle, Vinca[4], Cayenne jasmine, Rose periwinkle, Old maid

แพงพวย ชื่อวิทยาศาสตร์ Catharanthus roseus (L.) G.Don จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE) (เป็นคนละชนิดกับ แพงพวยน้ำ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ludwigia adscendens (L.) H.Hara)

สมุนไพรแพงพวยฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แพงพวยบก แพงพวยฝรั่ง (กรุงเทพฯ), นมอิน (สุราษฎร์ธานี), ผักปอดบก (ภาคเหนือ), แพงพวยบก พังพวยบก แพงพวยฝรั่ง พังพวยฝรั่ง (ภาคกลาง), ฉางชุนฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น

สรรพคุณของแพงพวยฝรั่ง

1.ที่เมือง La Reunion ของประเทศฝรั่งเศสจะใช้รากที่หมักจนเปื่อยยุ่ยเป็นยาบำรุงและเป็นยาธาตุ เจริญอาหาร (ราก)

2.รากและก้านสดนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก, ก้าน)

3.ทั้งต้นมีรสขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษ ใช้เป็นยารักษามะเร็ง ต่อต้านมะเร็ง รักษาเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดขาวในต่อมน้ำเหลืองมากเกินควร ด้วยการใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (บางแห่งใช้บำบัดรักษามะเร็งเต้านม) (ทั้งต้น) รากช่วยรักษามะเร็งในเลือด (ราก) ส่วนใบมีรสเอียน เป็นยาแก้มะเร็งต่าง ๆ แก้มะเร็งในเม็ดเลือดของเด็ก (ใบ)

4.ใบช่วยบำรุงหัวใจ (ใบ, ต้นและใบ)

5.ทั้งต้นมีรสเอียน ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน บำบัดเบาหวาน (ทั้งต้น) ส่วนใบก็เป็นยาแก้โรคเบาหวานเช่นกัน โดยชาวจาเมกาเชื่อว่ายาดองเหล้าจากใบแพงพวยฝรั่งตากแห้งสามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)

6.ทั้งต้นใช้ต้มดื่มช่วยลดความดันโลหิต ตามตำรับยาให้ใช้แพงพวย 15 กรัม ชุมเห็ดไทย 6 กรัม เก๊กฮวย 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้แพงพวย และแห่โกวเช่าอย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)

7.ทั้งต้นมีรสจืดเย็น ช่วยแก้ร้อน ทำให้เลือดเย็น แก้หวัด ตัวร้อน แก้อาการไอแห้งอันเกิดจากความร้อน ด้วยการใช้ต้นแห้ง 15-30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)

8.ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย โรคเจ็บคอ และโรคช่องคออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)

9.ต้นและใบช่วยลดไขมันในเลือดสูงได้ ด้วยการใช้ใบและต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น (ต้น, ใบ)

10.ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำและแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้ต้นสด 60-120 กรัมนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าอุ่นพออุ่นดื่ม (ทั้งต้น)

  1. ใช้เป็นยาขับเหงื่อ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
  2. ใช้ต้นสด 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (ทั้งต้น)[4]
  3. ช่วยแก้อาการท้องผูกเรื้อรัง ช่วยในการย่อย (ใบ)[1],[4]
  4. รากมีรสเอียน เป็นยาแก้บิด (ราก)[1],[4],[7]
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[1],[4],[7]
  6. ทั้งต้นใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[3],[4]
  7. ช่วยแก้โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัมผสมกับน้ำตาลกรวด 15 กรัม ต้มดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[4]
  8. รากใช้เป็นยาขับระดูของสตรีและทำให้แท้ง (ราก)[1],[7] นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคเลือดออกมากเกินไปในช่วงระหว่างมีประจำเดือนของสตรี ด้วยการนำใบมาเคี้ยวแล้วอมไว้เพื่อให้ตัวยาเข้าไปทางปาก (ใบ)[4]
  9. ช่วยแก้อาการตัวเหลืองอันเกิดจากพิษสุรา ด้วยการใช้ต้นสด 1 กำมือนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าดื่ม (ทั้งต้น)[4]
  10. ทั้งต้นใช้เป็นยาถอนพิษสำแดง ถอนพิษต่าง ๆ (ทั้งต้น)[4]
  11. ช่วยแก้งูกัด สุนัขกัด ให้ใช้ต้นสด 1-2 กำมือนำมาล้างให้สะอาด ตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ส่วนกากที่เหลือใช้พอกบริเวณที่ถูกกัด (ทั้งต้น)[4]
  12. ในประเทศอินเดีย (เมือง Orissa) จะใช้น้ำสกัดจากใบแพงพวยฝรั่งมารักษาโรคแมลงกัดต่อย (ใบ)[4]
  13. ช่วยห้ามเลือด (ราก)[1],[4]
  14. ช่วยแก้หัด แก้หัดหลังจากหัดออกแล้วไข้ไม่ลด แก้ผดผื่นคัน และแผลอักเสบอื่น ๆ ให้ใช้ต้นสด 30-60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วต้มดื่ม (ทั้งต้น)[4]
  15. ช่วยแก้เด็กเป็นฝี มีหัวกลัดหนองยังไม่แตก ด้วยการใช้ต้นสดนำมาต้มเอาน้ำชะล้างและใช้ตำพอก (ทั้งต้น)[4]
  16. ใช้ต้นสดตำพอกเป็นยาแก้กลากน้ำนม (ทั้งต้น)[4]
  17. ช่วยแก้บวม แก้แผลอันเกิดจากการหกล้ม แผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[4]
  18. รากและก้านสดนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวด (ราก, ก้าน)[6]

หมายเหตุ : วิธีใช้สมุนไพรแพงพวยตาม [4] ให้ใช้ทั้งต้นแห้งครั้งละ 15-30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่ม ส่วนใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือสุมไฟให้เป็นถ่านผสมเป็นยาพอก[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแพงพวยฝรั่ง

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acenine, ajalicine, akummigine, ammocalline, arginins, carosine, campesterol, glutamine, Leurosidine, loganin[7]
  • แพงพวยฝรั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด[7]
  • ทั้งต้นสกัดได้สารอัลคาลอยด์ Vineristine และ Vinblastine นำมาทำให้บริสุทธิ์ แล้วใช้ในรูปของยาฉีดรักษาคนไข้มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น[1]
  • นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการแยกสารอัลคาลอยด์และตั้งชื่อว่า Vinblastine และได้นำไปใช้ทดลองกับหนูทดลอง พบว่าสารชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ปริมาณของเม็ดเลือดขาวลดน้อยลง ต่อมาได้ทำการสกัดและแยกสารอัลคาลอยด์จากพรรณไม้ชนิดนี้ได้ประมาณ 50 ชนิด (อีกข้อมูลบอกว่าพบประมาณ 70 กว่าชนิด เช่น Vincaleukoblastine, Vinblastine, Vinrosidine, Vincristinem Vinleurosine, Rovidine, Leurosivine อีกทั้งยังมี Carosine, Perivinem Perividine, Catharanthine, Vindolie, Vincolidine เป็นต้น[3]) ซึ่งในจำนวนนี้จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่ด้วยกัน 4 ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดโรคได้ คือ Vincristine, Vinblastine, Vinrosidine, Vinleucostine (สารทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีอยู่ในพวก Dimeric indoleindoline) โดยต้นแพงพวยฝรั่งหนัก 500 กิโลกรัม จะให้สารอัลคาลอยด์ Vincristine เพียง 1 กรัมเท่านั้น โดยสาร Vinblastine ที่นิยมใช้ Vinblasine sulphate ทำเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือใช้ทำเป็นยารับประทานเพื่อบำบัดรักษาโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ส่วนสาร Vincristine ที่นิยมใช้ Vincristine sulphate ทำเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก[2]
  • เมื่อนำสาร Vinblastine ที่สกัดได้ไปทดลองกับหนูขาวทดลองที่มีโรคมะเร็งในเม็ดเลือด พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งโรคต่อมน้ำเหลือง P-1534 ของหนูทดลองได้[3]
  • น้ำที่ได้จากแพงพวยฝรั่ง เมื่อนำไปให้สุนัขทดลองกินพบว่ามีฤทธิ์สามารถลดความดันโลหิตของสุนัขได้ และยังพบว่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ไม่กระทบกับการเต้นของหัวใจและการหายใจของปอดด้วย[3]
  • เมื่อปี ค.ศ. 2004 ในประเทศไทยได้ทำการศึกษาทดลองผลของแพงพวยในการลดไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองในหนู (Mice) ด้วยการให้สารสกัดจากแพงพวยในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม สำหรับทดสอบค่าความเป็นพิษ และทดสอบผลการลดความดันโลหิตสูงในแมวที่ให้สารสกัดแพงพวยในขนาด 0.3 กรัมต่อกิโลกรัม และทดสอบผลในการลดไขมันในเลือดในหนูด้วยการให้สารสกัดแพงพวยในขนาด 0.3 กรัมต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และดูผลในการขับปัสสาวะในขนาด 0.1 กรัม ใช้เวลา 24 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับสาร Furosemide ผลการทดลองสรุปว่าสารสกัดแพงพวยที่ใช้ในรูปยาที่มีชื่อว่า RUVINAT นั้น ได้ผลดีในการลดความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ และลดไขมันในเลือดสูง[7]
  • สมุนไพรแพงพวยฝรั่งมีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง เวลานำมาใช้ต้องระวัง[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษด้วยการฉีดสารสกัดจากใบแพงพวยฝรั่งด้วย 95% เอทานอลเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 4 กรัมต่อกิโลกรัม[7]
เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “แพงพวยฝรั่ง (Phaengphuai Farang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 202.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “แพงพวยบก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 573-575.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “แพงพวย”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 400.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แพงพวยฝรั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [09 พ.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แพงพวยฝรั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [09 พ.ค. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Periwinkle madagascar, Periwinkle, Vinca, Old”.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [09 พ.ค. 2014].
  7. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “แพงพวยฝรั่ง”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 132-133.

อ้างอิง: https://medthai.com/