ฝางเสน

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


ฝาง

ฝาง ชื่อสามัญ Sappan หรือ Sappan tree[4],[5],[6]

ฝาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biancaea sappan (L.) Tod.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรฝาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขวางฝางแดงหนามโค้ง (แพร่), ฝางส้ม (กาญจนบุรี), ฝางเสน (ทั่วไป, กรุงเทพฯ, ภาคกลาง), ง้าย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลำฝาง (ลั้วะ), สะมั่วะ (เมี่ยน), โซปั้ก (จีน), ซูมู่ ซูฟังมู่ (จีนกลาง) เป็นต้น[5],[6],[7],[8]

ลักษณะของต้นฝาง

  • ต้นฝาง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถาผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีแดงเข้มและมีรสขมหวานจะเรียกว่า "ฝางเสน" แต่ถ้าแก่นไม้เป็นสีเหลืองส้มและมีรสฝาดขื่นจะเรียกว่า "ฝางส้ม" พรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน[1],[6]

ต้นฝาง

  • ใบฝาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แก่นช่อใบยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีช่อใบย่อยประมาณ 8-15 คู่ และในแต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 5-18 คู่ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบย่อยกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ และมีหูใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1]

ใบฝาง

  • ดอกฝาง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และจะออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลมและมีขน ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเกลี้ยงที่ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน โดยกลีบเลี้ยงล่างสุดจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้ามากกว่ากลีบอื่น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น โดยกลีบกลางจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน แยกจากกันเป็นอิสระ ส่วนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มีช่อง 1 ช่องและมีออวุล 3-6 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม[1]

  • ผลฝาง ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลม เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร และส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย และด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1]

สรรพคุณของฝาง

  1. เนื้อไม้และแก่นเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้, แก่น)[1],[3],[5]
  2. เมล็ดแก่แห้งนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรืออาจบดเป็นผงกินก็ได้ (เมล็ด)[8]
  3. เปลือกลำต้นและเนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ต้มรับประทานเป็นยารักษาวัณโรคได้ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[11]
  4. ตำรับยาบำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี แก้ประดง ระบุให้ใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกิน (แก่น)[16]
  5. ตำรับยาบำรุงกำลังระบุให้ใช้แก่นตากแห้งผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ตานเหลือง ข้าวหลามดง โด่ไม่รู้ล้มต้มน้ำ ม้ากระทืบโรง มะตันขอ ไม้มะดูก หัวข้าวเย็น และลำต้นฮ่อสะพายควาย ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย (แก่น)[8] หรืออีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง และรากกระจ้อนเน่าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม และอีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง 1 บาท, ดอกคำไทย 2 สลึงนำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เอา 1 แก้ว ใช้แบ่งกินเช้า, เย็นเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย และแก้กษัย (แก่น)[16]
  6. ตำรับยาแก้กษัยระบุให้ใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้ (แก่น)[16]
  7. แก่นฝางมีรสฝาด เค็ม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิตและใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตของสตรี (แก่น)[1],[2],[3],[4],[5]
  8. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก แก้เส้นเลือดอุดตัน กระจายเลือดที่อุดตัน แก้อาการหัวใจขาดเลือด ทำให้จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก (แก่น)[1],[7]
  9. ช่วยแก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้กำเดา ทำให้โลหิตเย็น (แก่น)[1],[3],[5]
  10. แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้ตัวร้อน (แก่น)[1],[16] ตำรับยาแก้ไข้ตัวร้อน ระบุให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม, และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลวแล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้กินครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น)[7] บ้างว่าใช้แก้ไข้สัมประชวรได้ด้วย (แก่น)[14]

  1. ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูระบุให้ใช้ฝางเสน เกสรบัวหลวง แก่นสน รากลำเจียก รากมะพร้าว รากมะนาว รากเท้ายายม่อม รากย่านาง ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี จันทน์ขาว จันทน์แดง สักขี อย่างละ 1 บาท นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อน ใช้จิบครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้จิบบ่อย ๆ จนกว่าไข้จะสงบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[19]
  2. น้ำต้มแก่นฝางช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ดี (แก่น)[1],[3],[5] เนื้อไม้มีสรรพคุณแก้ร้อนใน (เนื้อไม้)[1]
  3. แก่นและเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้เสมหะ ขับเสมหะ (เนื้อไม้, แก่น)[1],[3],[4],[5]
  4. ช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด (แก่น)[2],[16] ตามตำรับยาระบุให้ใช้แก่นฝางหนัง 3 บาท, ตะไคร้ 3 ต้น ทุบให้ละเอียด, น้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อยแล้วต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง ใช้รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออาจผสมน้ำตาลกรวดด้วยก็ได้ (แก่น)[16] ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไอ ไอแบบเป็นหวัดและเจ็บคอ ไอแบบคอแห้ง หรือไอแบบหอบหืด และผู้ที่ไอจากวัณโรคก็บรรเทาได้เช่นกัน รวมไปถึงอาหารปอดหรือหลอดลมอักเสบก็จิบยาแก้ไอขนานนี้ได้ โดยตำรับยาแก้ไอฝาง ประกอบไปด้วยเนื้อไม้ฝาง 200 กรัม, พริกไทยร่อน 200 กรัม, กานพลู 50 กรัม, สารส้ม 50 กรัม, การบูร 25 กรัม, เมนทอล 25 กรัม, เปลือกหอยแครงแล้วทำเป็นปูนขาว 15 กรัม, ดีน้ำตาลหรือใช้น้ำตาล 2.5 กรัม และน้ำสะอาด 5 ลิตร ส่วนวิธีการปรุงยาให้นำเนื้อไม้ฝางมาสับเป็นซี่เล็ก ๆ คล้ายไม้จิ้มฟัน แล้วนำไปต้มกับน้ำให้เดือดประมาณ 15-30 นาที และสำหรับส่วนผสมอื่น ๆ ให้นำมาตำให้ละเอียด เก็บใส่ไว้ในโหลก่อน จากนั้นนำน้ำยาต้มฝางที่รอจนอุ่นแล้วมาทาใส่ลงในโหลที่มีตัวยาอื่น ๆ ผสมอยู่ และให้แช่ยานี้ไว้ประมาณ 2-3 วัน (คนยาวันละ 3 ครั้ง) เมื่อครบวันแล้วให้กรองเอาเฉพาะน้ำยามาเก็บไว้ใส่ขวดที่สะอาด เก็บไว้จิบกินตอนมีอาการไอ (ยาแก้ไอฝางสูตรนี้ไม่ควรกินต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีอาการมึนศีรษะและมีความดันต่ำได้ ดังนั้นเมื่อกินจนอาการไอหายแล้วก็ให้หยุดกิน) (เนื้อไม้)[17]
  5. ช่วยแก้โรคหืดหอบได้ด้วย (แก่น)[11],[14] ตามตำรับยาระบุให้ใช้แก่นฝางเสน, แก่นแสมสาร, เถาวัลย์เปรียง, ใบมะคำไก่ อย่างละ 2 บาท 2 สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือด 10 นาที นำมากินต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น พอวันต่อมาให้เติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด 5 นาทีแล้วกินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืดประมาณ 5 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนยาใหม่ โดยให้ต้มกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย (แก่น)[16]
  6. ช่วยแก้ปอดพิการ (แก่น)[1],[3],[4],[5]
  7. ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ใช้ฝาดสมานโรคท้องร่วง ตำรายาไทยระบุให้ใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 500 มิลลิเมตร แล้วเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ใช้ดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง หรือจะใช้ฝาง 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วน นำไปต้มเคี่ยว 15 นาที ใช้รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะหรือ 4-8 ช้อนแกงก็ได้เช่นกัน (เนื้อไม้, แก่น)[1],[2],[3],[5],[6],[8] ส่วนน้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณเป็นยาสมานอย่างอ่อน แก้อาการท้องเดิน (น้ำมันระเหย)[9]
  8. ช่วยแก้บิด (แก่น)[1],[7]
  9. ใช้เป็นยาสมานลำไส้ (แก่น)[1],[7]
  10. แก่นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคนิ่วร่วมกับแก่นต้นคูน รากมะเดือยหิน หญ้าถอดปล้อง และใบสับปะรด (แก่น)[8]
  11. ช่วยแก้ปัสสาวะขุ่นข้น ด้วยการใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตย อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้ (แก่น)[16]
  12. ช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ช่วยแก้โลหิตตกหนัก (เนื้อไม้, แก่น)[1],[3],[5]
  13. ฝางนิยมใช้เข้าตำรับยาบำรุงโลหิต ฟอกโลหิตในกลุ่มยาสตรี เนื่องจากช่วยทำให้เลือดดี เช่น ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี ด้วยการใช้ฝางเสนหนัก 4 บาทและแก่นขี้เหล็ก 2 บาท นำมาต้มกินก่อนประจำเดือนจำมา จะช่วยทำให้ประจำเดือนไม่เน่าเสียและมาสม่ำเสมอ ช่วยแก้พิษโลหิตร้าย เป็นยาขับประจำเดือน และบำรุงโลหิต (แก่น)[19]
  14. แก่นใช้เป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ช่วยขับระดู (แก่น)[1],[4],[5],[7] ส่วนเนื้อไม้เป็นยาขับระดูอย่างแรง (เนื้อไม้)[1],[3] ตำรายาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนปิดกั้นไม่มา ให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลว แล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้ดื่มครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น)[7] ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้แก่น 5-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามเปียกที่ติดรก (ไม่รวมเมล็ด) ประมาณ 4-6 ฝัก แล้วนำไปเคี่ยวจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินเช้าและเย็น (แก่น)[8] และอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าเปลือกลำต้นและเนื้อไม้ เป็นยาแก้ท้องเสียและแก้อาการอักเสบในลำไส้ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[11]
  15. ช่วยลดอาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร (แก่น)[1],[7]
  16. ช่วยคุมกำเนิด (แก่น)[14]
  17. ช่วยแก้ดีและโลหิต (เนื้อไม้)[1]
  18. ช่วยขับหนอง ขับหนองในฝีอักเสบ (แก่น)[1],[7]
  19. ช่วยแก้คุดทะราด (แก่น)[2]
  20. ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (แก่น)[14]
  21. ใช้เป็นยาฝาดสมานและรักษาแผล (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[11]
  22. แก่นฝางนำมาฝนกับน้ำใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิดและฆ่าเชื้อโรคได้ (แก่น)[1],[3],[6]
  23. ช่วยแก้น้ำกัดเท้า ด้วยการใช้แก่นฝาง 2 ชิ้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า จะช่วยฆ่าเชื้อและสมานแผลได้ (แก่น)[2],[8]
  24. แก่นใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน (แก่น)[1],[7],[10] ตำรายาแก้ฟกช้ำ ระบุให้ใช้แก่นฝาง 60 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า แบ่งกิน 3 ครั้ง ใช้กินตอนท้องว่าง (แก่น)[7]
  25. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (แก่น)[1] ตามตำรายาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายระบุให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลว แล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้รับประทานครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น)[7]
  26. กิ่งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ นำไปตากแห้ง แล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (กิ่ง)[8]
  27. เนื้อไม้ใช้เป็นส่วนผสมหลักในตำรับยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี (เนื้อไม้)[1]
  28. เนื้อไม้ใช้ผสมกับปูนขาว นำมาบดใช้ทาหน้าผากสตรีหลังการคลอดบุตรจะช่วยทำให้เย็นศีรษะ และช่วยลดอาการเจ็บปวด (เนื้อไม้)[1]
  29. ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์เป็นตำรับยาที่ใช้แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ โดยประกอบไปด้วยเครื่องยา 2 สิ่ง คือ ฝางเสนและเปลือกมะขามป้อมอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำ 4 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสียอย่างแรงและเป็นยาแก้บิด (แก่น)[2]
  30. นอกจากนี้ยังใช้ฝางในการรักษาโรคอีกหลายชนิด เช่น โรคประดง โรคไต ไข้หวัด แก้ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ และฝางยังเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยาโบราณมากที่สุดชนิดหนึ่ง เช่น ยาหอมอินทจักร ยาจันทลีลา อยู่ในตำรับยาบำรุงโลหิตต่าง ๆ รวมไปถึงตำรับยาบำรุงโลหิตของสตรีจะขาดฝางเสียไม่ได้[16]

    ประโยชน์ของฝาง

    1. ชาวเมี่ยนจะใช้กิ่งแก่นำไปต้มกินเป็นน้ำชา[8]
    2. ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง มีทั้งในรูปแบบพร้อมดื่มและแบบชง โดยช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้เสมหะ บำรุงโลหิต แก้เลือดกำเดา[10]
    3. แก่นไม้เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับใบเตยหรือผลมะตูม จะช่วยให้มีสีสันสวยงาม[8]
    4. น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ผสมในน้ำดื่ม สีผสมอาหาร และนิยมนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าขนสัตว์[1],[4],[10] ส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์[10]
    5. นอกจากจะใช้เนื้อไม้ในการย้อมสีแล้ว ยังนำมาทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดียอีกด้วย ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐอย่างหนึ่ง[11]
    6. รากของต้นฝางจะให้สีเหลืองที่ใช้ทำสีย้อมผ้าและไหมได้ หรืออาจใช้เป็นสีผสมอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็ได้[1]
    7. ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้แก่นของต้นฝาง (ที่เหลาเป็นไม้จิ้มฟัน) ไปตอกลงบนต้นขนุนจนถึงเนื้อไม้ จะไปกระตุ้นให้ขนุนติดลูกบริเวณที่เราตอกลงไป[12]
    8. เนื้อไม้นำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม[8],[10]
    9. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา (เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาขนาดเล็ก) แต่ต้องหมั่นตัดกิ่งที่เลื้อยพันออกเพื่อให้เป็นทรงตามต้องการ เมื่อออกดอกจะออกดอกดกสีเหลืองงามอร่ามเด่นชัด และยังนิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้านตามชนบท[6],[8],[10]

    ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรฝาง

    • ฝางมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงไม่ควรนำไปใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์[16
    เอกสารอ้างอิง
    1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 เม.ย. 2014].
    2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [29 เม.ย. 2014].
    3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ฝาง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 113.
    4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ฝาง Sappan Tree”.  หน้า 69.
    5. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ฝาง (Fang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 184.
    6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ฝาง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 516-517.
    7. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ฝาง”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 362.
    8. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Sappan tree, Indain red, Brazilwood”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่มที่ 13 ว่าด้วยสมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส (สมพร หิรัญรามเดช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 เม.ย. 2014].
    9. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [29 เม.ย. 2014].
    10. โรงเรียนบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก.  “น้ำสมุนไพรฝาง เพื่อสุขภาพ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/sumkheelek/. [29 เม.ย. 2014].
    11. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29.  “ฝางเสน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/.  [29 เม.ย. 2014].
    12. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังวิเศษ.  “ภูมิปัญญาชาวบ้าน เทคนิคการทำให้ขนุนออกดอกตรงตำแหน่งที่เราต้องการ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: trang.nfe.go.th/nfe14/.  [29 เม.ย. 2014].
    13. นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557.  (มีคณา).
    14. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [29 เม.ย. 2014].
    15. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์กันเสียของฝาง (Caesalpinia sappan L.) ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทน้ำพริก”.  (นฤพร สุทธิสวัสดิ์, ศุทธินี ธไนศวรรยางกูร).
    16. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “ฝางเสน สร้างเลือด สร้างภูมิ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [29 เม.ย. 2014].
    17. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “แก้ไอเจ็บคอด้วยฝาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [29 เม.ย. 2014].
    18. Go somewhere-->