พญายอ, เสลดพังพอนตัวเมีย

Responsive image
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เสนอแนะ

ระบบจะตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะและข้อมูลเพิ่มเติม เราจะนำข้อมูลของท่านไปพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น


พญายอ, เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clinacanthus burmanni Nees, Clinacanthus siamensis Bremek., Justicia nutans Burm. f.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[8]

สมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลิ้นมังกร ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่), พญาปล้องคำ (ลำปาง), เสลดพังพอนตัวเมีย (พิษณุโลก), พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), ลิ้นงูเห่า พญายอ (ทั่วไป), โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ชิงเจี้ยน หนิ่วซิ้วฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[8]

ลักษณะของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ต้นเสลดพังพอนตัวเมีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไป[1],[2],[5],[7]
  • ใบเสลดพังพอนตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ[1],[5]

ใบเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ดอกเสลดพังพอนตัวเมีย ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)[1],[2],[3],[5]
  • ผลเสลดพังพอนตัวเมีย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด[2],[3]

หมายเหตุ : เสลดพังพอน เป็นชื่อพ้องของพรรณไม้ 2 ชนิด คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่เสลดพังพอนตัวผู้ลำต้นจะมีหนามและมีดอกเป็นสีเหลือง ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียลำต้นจะไม่มีหนามและมีดอกเป็นสีแดงส้ม เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนหลาย ๆ ตำราจึงนิยมเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า "พญายอ" หรือ "พญาปล้องทอง" โดยเสลดพังพอนตัวผู้นั้นจะมีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย และตำรายาไทยนิยมนำมาใช้ทำยากันมาก[4]

สรรพคุณของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • รากและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (รากและเปลือกต้น)[7]
  • ทั้งต้นและใบใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน (ทั้งต้นและใบ)[1],[3] ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้พอกบนศีรษะคนไข้ประมาณ 30 นาที อาการไข้และอาการปวดศีรษะจะหายไป (ใบ)[6]
  • ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ แล้วทำให้โรคกำเริบ) ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง (ราก)[6]
  • ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วจึงคายกากทิ้ง (ใบ)[6]
  • ช่วยแก้คางทูม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป และอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที (ใบ)[6]
  • ใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้นและใบ)[1]
  • รากใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน (ราก)[4]
  • ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ (ทั้งต้น)[3]
  • ช่วยแก้อักเสบแบบดีซ่าน (ทั้งต้น)[3]
  • ใช้เป็นยาแก้แผลอักเสบมีไข้ ไข่ดันบวม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-4 ใบ นำมาตำกับข้าวสาร 3-4 เม็ด ผสมกับน้ำพอเปียก ใช้พอกประมาณ 2-3 รอบ จะช่วยให้อาการดีขึ้น (ใบ)[6]
  • ลำต้นนำมาฝนแล้วใช้ทาแผลสดจะช่วยทำให้แผลหายเร็ว (ลำต้น)[7]
  • ใช้รักษาแผลจากสุนัขกัดมีเลือดไหล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5 ใบ นำมาตำพอกบริเวณแผลสัก 10 นาที (ใบ)[6]
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผล แผลจะแห้ง หรือจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก จะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี[4] ส่วนอีกตำราระบุว่า นอกจากจะใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้แล้ว ยังช่วยรักษาแผลเปื่อยเนื่องจากถูกแมงกะพรุนไฟ แผลสุนัขกัด และแผลที่เกิดจากการถูกกรดได้อีกด้วย เพียงแค่นำใบไปหุงกับน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[6]
  • ใช้รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ใบประมาณ 3-4 ใบ กับข้าวสาร 5-6 เม็ด เติมน้ำลงไปให้พอเปียก แล้วนำมาพอก จะรู้สึกเย็น ๆ ซึ่งยาจะช่วยดูดน้ำเหลืองได้ดี ทำให้แผลแห้งไว โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง พอกไปสักพักหนึ่งแล้วให้เอาน้ำมาหยอดกันยาแห้งด้วย (ใบ)[6]
  • ใช้แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดตำผสมกับเหล้าใช้ทา หรือใช้เหล้าสกัดใบเสลดพังพอน จะได้น้ำยาสีเขียวนำมาทาแก้ผื่นคัน (ใบ)[6]
  • ใช้แก้สิวเม็ดผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาดองกับเหล้า แล้วผสมดินสอพองใช้ทาแก้สิวและเม็ดผดผื่นคัน (ใบ)[6]
  • ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น (ใบ)[6]
  • ทั้งต้นและใบใช้เป็นยาขับพิษ ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด ยุง ฯลฯ รวมถึงผื่นคัน ไฟลามทุ่ง ลมพิษ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบสดนำมาตำให้พอแหลก แช่ในเหล้าขาวประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล[1],[2],[3],[4] ส่วนอีกตำรับยาแก้ลมพิษ ตามข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบตำผสมกับดินสอพอง ใส่น้ำเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[6]
  • คนเมืองจะนำใบมาตากแห้งแล้วตำผสมกับแมงป่องปิ้ง ใช้เป็นยาแก้พิษงู (ใบ)[7]
  • ใช้รักษาอาการอักเสบ รักษาแผลร้อนในปาก แก้เริม (แผลผิวหนังชนิดเริม) อีสุกอีใส แก้งูสวัด ขยุ้มตีนหมา และใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบเสลดพังพอนตัวเมียสดประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) แล้วนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำมาดื่มหรือเอาน้ำมาทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล หรืออีกวิธีให้เตรียมเป็นทิงเจอร์เพื่อใช้ทารักษาอาการอักเสบจากเริมในปาก โดยใช้ใบสด 1 กิโลกรัม นำมาปั่นให้ละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70% ลงไป 1 ลิตร แล้วหมักทิ้งไว้ 7 วัน ระเหยบนเครื่องอังไอน้ำให้ปริมาตรลดลงครึ่งหนึ่ง (ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยเด็ดขาด) และเติมกลีเซอรีน (Glycerine pure) อีกเท่าตัว (ครึ่งลิตร) แล้วนำน้ำยาเสลดพังพอนกลีเซอรีนที่ได้มาใช้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก และใช้ถอนพิษต่าง ๆ สำหรับตำรายาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบสดผสมกับดอกลำโพง โกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด (ใบ)[1],[2],[3],[4],[6]
  • ใช้แก้ถูกหนามพุงดอตำหรือถูกใบตะลังตังช้าง ด้วยการนำขี้ผึ้งแท้มาลนไฟให้ร้อน แล้วนำมาคลึงเพื่อดูดเอาขนของใบตะลังตังช้างออกเสียก่อน แล้วจึงใช้ใบเสลดพังพอนผสมกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[6]
  • ใช้เป็นยาแก้แพ้เกสรรักษาป่า ยางรักป่า และยางสาวน้อยประแป้ง ด้วยการใช้ใบผสมกับเหล้า นำมาทาบริเวณที่คัน (ใบ)[6]
  • ใช้แก้หัด เหือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 8 แก้ว ต้มให้เดือด 30 นาที เทยาออกและผึ่งให้เย็น แล้วนำใบสดมาอีก 7 กำมือ ตำผสมกับน้ำ 8 แก้ว แล้วเอาน้ำยาทั้งสองมาผสมกัน ใช้ทั้งกินและชโลมทา (ยาชโลมให้ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย) เด็กที่เป็นหัด เหือด ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว (ใบ)[6]
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดบวม เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ กระดูกร้าว ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากเย็นชื้น (ทั้งต้น)[3]
    รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอว (ราก)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือตำพอกแผลภายนอก[3]

ข้อควรระวัง : แม้ในอดีตจะมีการใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล แต่ในปัจจุบันวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะจะทำความสะอาดได้ยาก ทำให้กากติดแผล และอาจทำให้ติดเชื้อเป็นหนองได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • รากพบสาร Betulin, Lupeol, β-sitosterol ส่วนใบพบสาร Flavonoids ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ สารกลุ่ม monoglycosyl diglycerides เช่น 1,2-O-dilinolenoyl-3-O-b-d-glucopyranosyl-sn-glycerol และสารกลุ่ม glycoglycerolipids ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสเริม[4],[9]
  • จากการทดลองในสัตว์ใช้สกัดจากใบสดของเสลดพังพอนตัวเมียด้วย n-butanol พบว่า สามารถลดการอักเสบได้[2] โดยพบว่าจะช่วยลดการอักเสบของข้อเท้าหนูที่ทำให้บวมด้วยสาร carrageenan ได้ เมื่อใช้ตำรับยาที่มีเสลดพังพอนตัวเมียร้อยละ 5 ใน Cold cream และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบ นำมาทาเฉพาะที่ให้หนูแรท จะช่วยลดการอักเสบเรื้อรังได้ แต่เมื่อใช้สารสกัดด้วย n-butanol มาทาที่ผิวหนังจะไม่ได้ผล[9]
  • สารสกัดจากใบความเข้ม 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพต้านการอักเสบได้ดี[3]
  • เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดด้วย n-butanol จากใบ พบว่า จะช่วยลดความเจ็บปวดของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติคได้ โดยสารสกัดความแรง 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับเฟนนิวบิวทาโซนขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนสารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเอทานอล 60 จากใบ พบว่าไม่มีผลลดความเจ็บปวด[9]
  • สารสกัดด้วยเฮกเซน บิวทานอล และเอทิลอะซิเตทจากใบเสลดพังพอนตัวเมียมีฤทธิ์ต้านไวรัสเชื้อเริม HSV-1 เมื่อนำไปทำเป็นตำรับเจลโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 4 และใช้ carbopol 940 เป็นสารก่อเจล พบว่าจะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ดีและไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ในขณะที่เมื่อใช้สารก่อเจล poloxamer 407 จะมีพิษต่อเซลล์ และจากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่อวัยวะสืบพันธุ์ชนิดเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาจากสารสกัดเสลดพังพอนตัวเมีย เปรียบเทียบกับยา acyclovir และยาหลอก โดยให้ผู้ป่วยทายาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างในระยะเวลาการตกสะเก็ดของแผลผู้ป่วยที่ใช้ยาจากสารสกัดใบและยา acyclovir โดยแผลจะตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายสนิทภายใน 7 วัน ซึ่งแตกต่างกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยยาที่สกัดจากใบเสลดพังพอนตัวเมียจะไม่ทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง ในขณะที่ acyclovir จะทำให้แสบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาที่ทำจากเสลดพังพอนตัวเมียในผู้ป่วยโรคเริม งูสวัด และแผลอักเสบในปาก แล้วพบว่าสามารถรักษาแผลและลดการอักเสบได้ดี[9]
  • สารที่สกัดจากบิวทานอล (Butanol) ของใบเสลดพังพอนตัวเมีย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดเริมและอีสุกอีใส[3] จากรายงานการรักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดด้วยยาจากสารสกัดจากใบเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยให้ทายาวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ จนกว่าแผลจะหาย พบว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยสารสกัดจากใบเสลดพังพอนตัวเมีย แล้วมีแผลตกสะเก็ดภายใน 3 วัน และหายภายใน 7-10 วัน จะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับความเจ็บปวดจะลดลงเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก โดยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ[9]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัด n-butanol จากใบให้หนูเม้าส์ พบว่ามีพิษเล็กน้อย แต่จะมีพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลขนาด 1.3 กรัมต่อกิโลกรัม (เทียบเท่าใบแห้ง 5.44 กรัมต่อกิโลกรัม) เมื่อนำมาป้อนเข้าทางปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษใด ๆ[9]
  • จากการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง ด้วยการป้อนสารสกัด n-butanol จากใบในขนาด 270 และ 540 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้หนูแรททุกวัน นาน 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต แต่พบว่ามีน้ำหนักต่อมธัยมัสลดลง ในขณะที่น้ำหนักของตับเพิ่มขึ้น และไม่พบว่ามีความผิดปกติต่ออวัยวะอื่น ๆ หรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด หนูแรทที่กินสารสกัดด้วยเอทานอลในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม ทุกวันนาน 90 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดและกลุ่มควบคุมไม่ต่างกัน แต่น้ำหนักของหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดจะต่ำกว่ากลุ่มควบคุม เกล็ดเลือดของหนูแรททั้งสองเพศสูงกว่า และครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติด้านด้านจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในและพยาธิสภาพภายนอก[9]

ประโยชน์ของเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมาใช้บริโภคได้ โดยนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงแค[5]
  • ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้มีการผลิตครีมจากสมุนไพรชนิดนี้สำหรับรักษาและบรรเทาโรคเริมและงูสวัดใช้กันแล้ว[8] โดยแบบครีมจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 4-5 แบบโลชั่นจะมีสารสกัดอยู่ร้อยละ 1.25 ส่วนแบบสารละลายสำหรับป้ายปากจะมีสารสกัดเสลดพังพอนตัวเมียในกลีเซอรีน ร้อยละ 2.5-4[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พญาปล้องทอง”.  หน้า 521-522.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พญาปล้องทอง”.  หน้า 88.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  หน้า 562.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [11 ก.ย. 2015].
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [11 ก.ย. 2015].
  6. สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๐, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่).  “เสลดพังพอนตัวเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.oocities.org/thaimedicinecm/.  [11 ก.ย. 2015].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “พญาปล้องทอง, เสลดพังพอนตัวเมีย”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [11 ก.ย. 2015].
  8. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พญาปล้องทอง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [11 ก.ย. 2015].
  9. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “พญายอ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [11 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, Ahmad Fuad Morad, Tai Lung Aik, Qing-long Wang, Lão Hạc)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

https://medthai.com/



ประเภทพืช พืชดอก

บรรยายลักษณะ

ต้น: ไม้เถาล้มลุก สูงประมาณ 1 เมตร

ใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร ก้านใบยาว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลม ขอบใบ 0.3-2 เซนติเมตร ขอบใบจักมน

ดอก: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก สีแดงโคนสีเขียวยาว 3-4.2 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมียรังไข่เหนือวงกลีบ

ผล: ผลแห้งแตก ขนาด 2 เซนติเมตร มีขนนุ่ม เมล็ดขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร

เปลือก:

อื่นๆ:

นิเวศวิทยาและการกระจายพันธ์

การกระจายพันธุ์ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ อออกดอก เดือนตุลาคม-มกราคม

การใช้ประโยชน์ สมุนไพร,ใช้ใบสดรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แมลงกัดต่อย ผื่นคัน เริม งูสวัด